Skip to main content
sharethis

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตา (Meta) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก ประกาศเมื่อ 7 ม.ค. 68 ว่าจะเลิกใช้ระบบตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าว (Fact-Checking) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ผู้ตรวจสอบข้อมูลภายนอก โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยโดนัลด์ ทรัมป์ รับสมัครเลือกตั้ง ปธน. เมื่อปี’59 และจะเปลี่ยนเป็นระบบให้ชุมชนช่วยกันรายงาน (community notes)

 

ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าวถึงเหตุผลผ่านวิดีโอว่า เครื่องมือ 'Fact-checkers' ของเมตา มีอคติทางการเมืองมากเกินไป และทำลายความไว้วางใจมากกว่าจะช่วยสร้างขึ้นมา โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา "การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นเหมือนกับจุดเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่เราจะมาให้ความสำคัญกับการพูดแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง"

ซัคเคอร์เบิร์ก ยังกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายจะทำให้ผู้ใช้โพสต์เนื้อหาได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคม เช่น นโยบายการเข้าเมือง เพศ การเปลี่ยนแปลงนี้ ซัคเคอร์เบิร์ก รู้ว่าจะจับเนื้อหาที่ไม่ดีน้อยลง

การตัดสินใจของเมตา ครั้งนี้ส่งผลต่อการกำกับเนื้อหาในแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเธรด ซึ่งมีผู้ใช้เกือบ 4 พันล้านคนทั่วโลก เจริญรอยตามอิลอน มัสก์ ที่เข้ามาเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ‘X’ (ชื่อเดิมทวิตเตอร์) ซึ่งเขาเปลี่ยนนโยบายกำกับการดูแลเนื้อหาของแพลตฟอร์ม และใช้แนวทางที่ให้ชุมชนช่วยกันรายงานแทน

ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงจะยังจำกัดอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ความเคลื่อนไหวของเมตา ทำให้ได้รับเสียงสะท้อนว่า พยายามที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับประธานาธิบดี ทรัมป์ และมองว่าเมตา มีคติต่อต้านแนวคิดอนุรักษ์นิยม ขณะที่ฝั่งสนับสนุนมองว่าเป็นการฟื้นฟูเสรีภาพในการพูด อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่ายากที่จะรู้เหตุผลที่ทำให้บริษัทดำเนินการเช่นนี้ แต่คำอธิบายทั้ง 2 ฝั่งดูมีเหตุผล

เมตา มองว่านี่เป็นโอกาสในการกำจัดนโยบายที่ถูกกลุ่มอนุรักษนิยม และผู้สนับสนุนทรัมป์มุ่งโจมตี ขณะเดียวกัน ก็เปลี่ยนจุดยืนของบริษัทต่อเสรีภาพในการพูด และแสดงความคิดเห็น

เอริค โกลด์แมน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยซานตา คลารา ซึ่งศึกษาการกำกับดูแลเนื้อหาของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอบีซีว่า ซัคเคอร์เบิร์ก รู้ว่า เขาต่อสู้เพื่อเปลี่ยนมาสู่หลักการพื้นฐานของเฟซบุ๊ก แต่มีคำถามว่าทำไมจึงเป็นตอนนี้

ตอนที่เฟซบุ๊กประกาศใช้ระบบตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าว ในปี 2559 เป็นช่วงที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถูกมองว่าเป็นแหล่งกระจายข่าวบิดเบือน ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2559 เครื่องมือนี้ถูกวิจารณ์จากฝั่งรีพับลิกัน โดยเฉพาะทรัมป์ ที่กล่าวหาบริษัทมีอคติที่โน้มเอียงไปทางต่อต้านอนุรักษนิยม

ความตึงเครียดระหว่างเมตา กับทรัมป์ เพิ่มมากขึ้นในช่วงต้นปี 2564 ตอนที่บริษัทแบนบัญชีของทรัมป์ หลังเหตุการณ์บุกอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ซึ่งซัคเคอร์เบิร์ก ให้เหตุผลว่า เป็นความเสี่ยงเกินไปที่อนุญาตให้ทรัมป์ ใช้แพลตฟอร์ม

โซล เมซซิง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำศูนย์ศึกษาโซเชียลมีเดียและการเมือง มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และอดีตนักวิจัยของเฟซบุ๊กให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอบีซีว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เปลี่ยนมาเป็นแนวทางไม่แทรกแซงการแสดงความคิดเห็น เขาเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในซิลิคอน วัลเลย์ ที่แนวคิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเอียงไปทางขวามากขึ้น การตัดสินใจนี้ของเมตาอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนี้ นอกจากนี้ความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ของเมตาทำให้เราไม่สามารถมองข้ามการประกาศยกเลิกระบบตรวจสอบข่าวได้

นโยบายใหม่นี้เมตา ยุติการตรวจสอบเฮทสปีช และการทำผิดกฎอื่นๆ ในเชิงรุกด้วย โดยจะดูเฉพาะโพสต์ที่มีผู้ใช้รายงาน  และจะเน้นไปที่ระบบอัตโนมัติสำหรับการนำเนื้อหาที่ละเมิดกฎขั้นสูง เช่น การก่อการร้าย ล่วงละเมิดเด็ก สแกมเมอร์ และยาเสพติด

ปีที่แล้ว (2567) เมตา คืนบัญชีให้ทรัมป์ และเมตา ยังบริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กองทุนเพื่อพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ นอกจากนี้ ซัคเคอร์เบิร์ก ยังเดินทางไปพบทรัมป์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เมตา ยังแต่งตั้งดานา ไวท์ ประธาน ‘Ultimate Fighting Championship’ ซึ่งใกล้ชิดกับทรัมป์ เป็นคณะกรรมการบริหารของบริษัท หลังจากที่ก่อนหน้านี้เพิ่งประกาศว่าโจเอล คัปแลน จะมารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกิจการระดับโลก

ในบล็อกที่โพสต์เมื่อวันที่ 7 ม.ค. เมตา อ้างถึงสุนทรพจน์ของซัคเคอร์เบิร์ก ที่กล่าวในพิธีจบการศึกษามหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เมื่อปี 2562 ที่เขาเรียกร้องให้ลดความเข้มงวดในเรื่องการควบคุมการแสดงความคิดเห็นที่ว่า “บางคนเชื่อว่า ยิ่งให้คนส่งเสียงมากจะทำให้เกิดการแบ่งแยกมากกว่าจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ มีคนจำนวนมากที่คิดว่าการบรรลุผลลัพธ์ทางการเมืองที่ตนเองเชื่อสำคัญกว่าการให้ทุกคนส่งเสียงของตัวเอง ผมคิดว่าความคิดนี้อันตราย.

ที่ผ่านมา ซัคเคอร์เบิร์ก และผู้บริหารแพลตฟอร์มอื่นๆ ต่างคัดค้านการกำกับดูแลเนื้อหา โดยเน้นว่าตนเองเป็นเพียงแพลตฟอร์ม ไม่ใช่ผู้ผลิตสื่อหรือสำนักข่าว และไม่ควรต้องผิดชอบเนื้อหาที่ผู้ใช้โพสต์

แต่การกำกับดูแลเนื้อหากลายเป็นประเด็นถกเถียงของสาธารณะต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งจากรัสเซียในปี 2559 การแพร่กระจายของข่าวปลอม และเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมา จนทำให้เฟซบุ๊ก เริ่มมีมาตรการกำกับดูแลเนื้อหา ในปี 2563 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีมาตรการเข้มข้นในวิกฤติโควิด-19 จนถึงเหตุการณ์บุกเข้าไปอาคารรัฐสภา

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้กลุ่มรีพับลิกันไม่พอใจ เมื่อ สส.ของพรรคครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรในปี 2565 เริ่มสอบสวนการสื่อสารระหว่างรัฐบาลไบเดน กับบริษัทโซเชียลที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลเนื้อหา

ด้านทรัมป์ ซึ่งถูกถามระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ว่า เขาคิดว่านโยบายใหม่ของเมตา เกี่ยวกับที่เขาวิจารณ์บริษัทมาก่อนหน้านี้หรือไม่ ทรัมป์ ตอบว่า "อาจจะ"

 

เรียบเรียงข้อมูลจาก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่