ปี 2568 เป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของเมียนมาในหลายมิติ ทั้งเป็นปีที่สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council-SAC) หมายมั่นจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้ได้ โดยได้รับการสนับสนุน
แกมบังคับจากจีน ขณะที่การต่อสู้ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว สถานการณ์กำลังสุกงอม ไฟปฏิวัติกำลังลุกโชนแรง ทำให้หลายฝ่ายต่างวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นต่อแผ่นดินทองต้องคำสาปแห่งนี้ บทความนี้จึงนำเสนอ 3 ฉากทัศน์สงครามกลางเมืองเมียนมาในปี 2568 และข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยเพื่อรับมือ
ในแผ่นดินอิรวดีหามีมิตรแท้ไม่
สงครามกลางเมืองเมียนมา แบ่งตัวแสดงสำคัญออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) SAC หรือกองทัพเมียนมา
2) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government-NUG) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา
และ 3) กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา และสงวนท่าทีวางตัวเป็นกลาง
ความสัมพันธ์ของตัวแสดงทั้งสามซับซ้อน เปรียบเหมือนคู่ชีวิตที่เดี๋ยวรัก เดี๋ยวเลิก ฝ่ายหนึ่งคิดว่าตัวเองต้องควบคุมอีกฝ่ายอย่างเด็ดขาด ไม่มีเงื่อนไข เพราะถือว่ามีอำนาจสูงสุดในบ้าน ขณะที่อีกฝ่ายต้องการอิสรภาพ ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่กำหนดได้เอง และไม่ต้องการถูกกดขี่อีกต่อไป แต่ขณะที่ทั้งสองฝ่ายทะเลาะกันนั้น ภายนอกบ้านก็มีนายทุนผู้ร่ำรวยเงินทองและมากอิทธิพล จับจ้องที่จะซื้อบ้านหลังดังกล่าว รอเพียงแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมขายเท่านั้น ดังนั้น จึงสมกับคำกล่าวว่า ในแผ่นดินอิรวดีหามีมิตรแท้ไม่ จะมีก็แต่คู่แข่งชิงเชิง รอต่อรองเวลาที่ได้เปรียบเท่านั้น
เมียนมาเป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาล มากมีด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ Rare earths
ในพื้นที่รัฐคะฉิ่น ตอนเหนือของเมียนมาติดกับจีน ส่วนทางด้านตะวันตกนั้นเล่าก็อยู่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย
มีความสำคัญทางภูมิยุทธศาสตร์ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร มาแต่ช้านาน หากผู้ใดครอบครองเมียนมาได้แล้วไซร้ จึงเปรียบได้กับการครอบครอง “แผ่นดินทอง” ที่มากประมาณด้วยประโยชน์นานัปการ
แน่นอนว่าเรื่องราวคงไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น เพราะความขัดแย้งเมียนมาในปัจจุบันหยั่งรากลึก และมีมิติของประวัติศาสตร์บาดแผลเข้ามาเกี่ยวข้อง ยังไม่นับการแทรกแซงจากต่างชาติที่ทำให้สถานการณ์ซับซ้อน และคงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพียง 2-3 ครั้ง ดังนั้นในปี 2568
จึงเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์เมียนมาจะรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อไทย แบ่งออกเป็น 3 ฉากทัศน์
1.ทั้งสองฝ่ายหยั่งเชิง ผลัดกันรับ-รุก ยังไม่มีใครแพ้ชนะ
ที่ผ่านมาการสู้รบในเมียนมามักจะเกิดขึ้นเป็นวงรอบ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีสิ่งกำหนดสำคัญคือปริมาณกระสุนของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ อันทำให้ฝ่ายกองทัพเมียนมาได้เปรียบ เพราะมีโรงงานผลิตอาวุธและกระสุนเป็นของตัวเอง แต่สิ่งเดียวที่กองทัพเมียนมาขาดคือกำลังพล ที่แม้จะเรียกเกณฑ์ทหารเพิ่ม แต่ก็มีคนหนีทหารมาไทยจำนวนมาก ไพ่ใบเดียวที่มีเหนือกว่ากลุ่มต่อต้านก็คือเครื่องบินรบ ซึ่งก็ใช้งานไม่ได้ทุกพื้นที่ เช่น ในรัฐฉานเหนือติดกับจีน หรือรัฐกะเหรี่ยงติดกับไทย เพราะกลัวกระสุนกระเด็นเข้ามาในชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ในฉากทัศน์นี้การสู้รบในปี 2568 จะเป็นไปในลักษณะหยั่งเชิง ผลัดกันรับ ผลัดกันรุก กองทัพเมียนมาอาจยึดพื้นที่บางส่วนที่เสียไปคืนได้ ขณะที่กลุ่มต่อต้านอาจรุกเข้าไปในพื้นที่ตอนในของเมียนมาได้มากขึ้น แต่ก็ต้องเจอปราการของกองทัพเมียนมาที่ยันไว้อย่างเต็มที่ จนเสียเปรียบด้านข้อจำกัดของอาวุธและกระสุนที่อาจได้รับการสนับสนุนน้อยลงจากกลุ่มว้า (UWSA) ที่ถูกจีนกดดัน จึงทำให้ไม่สามารถบุกเข้าไปในพื้นที่ตอนในของเมียนมา เช่น ภาคพะโค อิรวดี ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
2.กลุ่มต่อต้านเข้ายึดพื้นที่ตอนในของเมียนมา ล้อมกรุงเนปยีดอ
ชัยชนะของกองทัพอาระกัน (Arakan Army) ในรัฐยะไข่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กองทัพเมียนมาต้องวางแผนยุทธศาสตร์การรบใหม่ทั้งหมด เพราะรัฐยะไข่นั้นถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ มีทั้งท่าเรือน้ำลึกและโครงการลงทุนของจีนและอินเดีย รวมถึงเป็นท่าออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งสะดวกสำหรับการลักลอบขนอาวุธและเครื่องกระสุนมาจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่กองทัพเมียนมาจะพยายามเจรจากับกองทัพอาระกันโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กองทัพอาระกันหยุดการสู้รบไว้เพียงแค่รัฐยะไข่ และไม่ขยายกำลังเข้าไปในช่วยกลุ่มต่อต้านสู้รบในพื้นที่อื่นอย่างภาคอิรวดีหรือพะโคซึ่งมีโรงงานอาวุธและกระสุนของกองทัพเมียนมา อีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากกรุงเนปยีดอ ซึ่งฉากทัศน์ที่เป็น Worst Case สำหรับกองทัพเมียนมาก็คือการถูกกองทัพอาระกันเข้าตีจากรัฐยะไข่เพื่อยึดภาคพะโคและอิรวดี ขณะที่กลุ่มตะอางและกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defense Force-PDF) เข้าตีจากภาคมัณฑะเลย์ ปิดล้อมกรุงเนปยีดอและย่างกุ้งไว้เป็นไข่แดงนั่นเอง
3.จีนแทรกแซงเมียนมาเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าสู่การเจรจา
จีนเหลืออดเต็มทีกับความไร้ประสิทธิภาพของกองทัพเมียนมาในการจัดการกับกลุ่มต่อต้านที่เข้ายึดพื้นที่ผลประโยชน์ของจีน โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนเหนือของเมียนมา และรัฐยะไข่ที่ท่อส่งแก๊ซและน้ำมัน รวมถึงท่าเรือน้ำลึกที่เมืองเจ้าผิวกำลังจะตกอยู่ในมือของกองทัพอาระกันเพียงแค่เอื้อมเท่านั้น แม้ว่าที่ผ่านมาจีนจะใช้ยุทธศาสตร์ไม้อ่อนและไม้แข็ง (Carrot and Stick) กับเมียนมามาโดยตลอด แต่ความอดทนของจีนก็มีจำกัด โดยเฉพาะหลังจากที่กองทัพเมียนมาไม่ยอมรับเงื่อนไขในการเจรจากับกลุ่ม Three Brotherhood Alliance ที่จีนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย อีกทั้งยังส่งเครื่องบินรบมาปฏิบัติการใกล้กับชายแดนจีน จึงมีแนวโน้มที่ในปี 2568 จีนจะใช้ไม้แข็งมากขึ้นในการกดดันทุกฝ่ายให้เข้าสู่การเจรจา เช่น การบังคับกลุ่มว้าไม่ให้ขายอาวุธและกระสุนให้กับกลุ่มต่อต้าน การส่งทหารรับจ้างเข้าไปดูแลพื้นที่ผลประโยชน์ของจีน แต่อีกทางหนึ่งคือเป็นการขู่กองทัพเมียนมาให้ทำตามความต้องการของจีน ซึ่งในฉากทัศน์นี้ไม่ว่าฝ่ายใดจะได้เปรียบหรือเพลี่ยงพล้ำ จีนจะเป็นผู้คุมเกมคนสุดท้าย เว้นแต่สหรัฐฯ และอินเดียจะเพิ่มการแทรกแซงให้เมียนมาและกลายเป็น Proxy War อย่างแท้จริง
ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย
สงครามกลางเมืองในเมียนมา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หนีภัยความไม่สงบ ปัญหาผลกระทบจากการสู้รบ โรคระบาด ยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทุกอย่างเกี่ยวพันกันทั้งหมด ยังไม่นับถึงการแผ่อิทธิพลของจีนที่ใช้โอกาสความขัดแย้งในเมียนมา สยายปีกมาประชิดชายแดนไทยผ่านอิทธิพลเหนือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มว้า เมืองลา และไทใหญ่เหนือ
ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้จากยาเสพติด และเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะหันไปมองทางไหน ปัญหาเมียนมา คือ ปัญหาความมั่นคงใหญ่ที่ไทยต้องรับมือในปี 2568 ดังนั้น รัฐบาลจึงควรหันมาทบทวนนโยบายการบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนอย่างจริงจัง เนื่องจากภูมิทัศน์ความมั่นคงบริเวณชายแดนได้แปรเปลี่ยนไปจากยุค “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว จำเป็นที่จะต้องมองไปข้างหน้า เพราะหากช้า รอบบ้านของไทยอาจจะกลายเป็นสงครามตัวแทนของมหาอำนาจ โดยที่ไทยไม่เหลืออำนาจต่อรองใด ๆ เลย
ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)