Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สังคมไทยเป็นสังคมที่เหมือนตกอยู่ในห้วงเวลาแห่งความสับสนว่าจะเอายังไงกับ “ความจริง” คือไม่รู้จะให้คุณค่ากับความจริงยังไงดี จะมองข้ามมันไป หรือว่าจะให้ความสำคัญกับมันแค่ไหน อย่างไร

เช่น พวกปกป้องศักดินา ต่อให้เห็นความจริงของ “ช้างทั้งตัว” ว่าเป็นอย่างไร แต่นอกจากพวกเขาจะแสร้งมองไม่เป็นอีกด้านของช้างแล้ว ก็ยังพยายามปกป้องภาพลักษณ์ เรื่องเล่า การพูดถึง หรือการแสดงออกใดๆ ในทางสดุดีสรรเสริญ “ด้านดี” เพียงด้านเดียวเอาไว้ ด้วยการหาทางขจัดการพูดถึง การตั้งคำถาม และการวิจารณ์อีกด้านที่เป็น “ด้านลบ” ของช้างให้หมดไป โดยไม่สนใจเลยว่าการพูดความจริงอีกด้านนั้น จะเป็นการพูดเพื่อประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างไรบ้าง

ขณะที่พวกซึ่งเรียกกันในภาษาสื่อโซเชียลว่า “เดอะแบก” ของพรรคการเมืองอย่างเพื่อไทยและพรรคประชาชน ก็สร้างประเพณีปกป้องพรรคการเมืองที่ตนแบกในแบบเดียวกัน ต่างกันเพียงไม่มีกฎหมายพิเศษอย่าง “มาตรา 112” (เป็นต้น) ในการปกป้องนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนแบกเท่านั้นเอง

เดอะแบกไม่ใช่แค่กำลังสร้างวัฒนธรรมพูดความจริงด้านเดียว แต่ยังพยายาม “ปั้นแต่ง” ให้ความจริงด้านลบของพรรคที่ตนเองแบกดูดีขึ้น และ “แปลงสาร” ให้ความจริงด้านบวกของอีกฝ่ายให้ดูแย่ลง ซ้ำยังปฏิเสธ "สามัญสำนึก" ปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักโทษทางความคิด ด้วยการเพิกเฉยที่จะเรียกร้องให้พรรคที่พวกตนแบกแสดงความรับผิดชอบต่อการนิรโทษกรรมประชาชนอย่างจริงจังถึงที่สุด

การพูด “ความจริงด้านเดียว” กลายเป็นวัฒนธรรมชัดเจนขึ้นของเดอะแบก ที่กลายเป็นเรื่องปกติที่ทำกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2566 เป็นอย่างน้อยจนถึงปัจจุบัน แต่การพูดถึงความจริงด้านเดียว ก็ไม่ใช่แค่ “เลี่ยง” ไม่พูดถึงความจริงด้านลบที่ไม่อยากพูดถึงเท่านั้น หากแต่ยังพยายามที่จะ “ปั้น” ความจริงด้านลบนั้นๆ ให้ “เป็นตัว” หรือมีความหมายแบบใหม่ที่ดูดีขึ้นด้วย

เช่น เพื่อปกป้องการตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ก็พยายามจะบอกว่า “ไม่มีดีลลับ” หรือถึงมีจริง เราก็ไม่รู้ เพราะมัน “ลับ” จึงไม่พูดถึงดีกว่า หรือเปลี่ยนความหมายใหม่ว่ามันเป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่ต้องมีการเจรจาต่อรองในเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ ทั้งในทางเปิดเผยและไม่เปิดเผย คำว่า “ตระบัดสัตย์” ก็แค่วาทะโจมตีกันทางการเมือง เพราะการไม่รักษาสัญญาหรือการไม่สามารถรักษาสัญญาได้ มันเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว และการ “ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว” ก็แค่การโจมตีทางการเมืองเช่นกัน เพราะไม่มีการข้ามขั้วใดๆ ทั้งสิ้น นั่นเป็นเรื่องปกติของหลายๆ ประเทศประชาธิปไตยเขาทำกัน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคเดียวตั้งรัฐบาลไม่ได้ พรรคไหนรวมเสียงข้างมากในสภาได้ ก็ย่อมมีความชอบธรรมตั้งรัฐบาลได้เป็นธรรมดา (พูดเปรียบเทียบโดยละเลย หรือไม่ให้ความสำคัญพอกับ “บริบท” การต่อสู้กับฝ่ายทำรัฐประหารร่วมสองทศวรรษในไทยที่มีประชาชนเป็นฝ่ายสูญเสีย)

ดังนั้น บรรดาผู้ปั้นแต่งจึงเสนอว่า เราควรสนใจอนาคตกันดีกว่าว่าหลังจากตั้งรัฐบาลแล้ว จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างไร รัฐบาลใหม่จะคืนความยุติธรรมแก่คนเสื้อแดงที่ถูกล้อมฆ่าในการชุมนุมทางการเมือง ปี 2553 อย่างไร และจะให้ความยุติธรรมแก่นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกกดปราบด้วยมาตรา 112 อย่างไร

แม้เราจะ “เข้าใจได้” ว่าการตั้งรัฐบาลเพื่อไทยจำเป็นต้องร่วมกับพรรคการเมืองของพวกที่ทำรัฐประหาร และพรรคที่มีอุดมการณ์รับใช้ศักดินาแบบเดียวกันกับพวกทำรัฐประหาร และการมีรัฐบาลเพื่อไทยก็น่าจะส่งผลทางการเมืองที่ “ดีกว่า” ที่จะปล่อยให้มีรัฐบาลประยุทธ์หรือประวิตรสืบทอดอำนาจต่อไปอีก

แต่การไม่พูดความจริงกันตรงไปตรงมา หรือการพยายามปั้นแต่งให้ความจริงด้านลบดูดี จะด้วย “เจตนาดี” หรือด้วยอะไรก็ตาม มันทำให้เราเหมือนจงใจหลอกตัวเองเกินไปหรือไม่ เราจำเป็นต้องหลอกตัวเอง และพยายามโน้มน้าวให้สังคมเชื่อการหลอกตัวเองขนาดนั้นเลยหรือ

เพราะหลังจากตั้งรัฐบาลเสร็จจนถึงวันนี้ เราได้เห็นแล้วว่ามันไม่ต่างจากคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่บอกก่อนกลับไทยว่า “ผมแก่แล้ว ไม่ยุ่งการเมืองแล้ว แค่อยากกลับบ้านไปเลี้ยงหลานเท่านั้น” เพราะเมื่อทักษิณประกาศว่า “ผมกลับมารับใช้เบื้องพระยุคลบาท” การแก้ต่างของนักวิชาการและเดอะแบกทั้งหลายที่ว่าไม่มีดีลลับ ไม่มีการตระบัดสัตย์ ไม่ใช่การตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ก็มี “ค่าความจริง” (truth value) ที่เป็นเท็จเหมือนค่าความจริงของการ “กลับบ้านมาเลี้ยงหลาน” นั่นเอง

แต่ถึงเราจะปฏิเสธความจริง หรือพยายาม “ปั้นนำเป็นตัว” ให้ความจริงด้านลบมีความหมายอีกแบบที่ดูดีขึ้นกับฝ่ายตน ก็ดูเหมือนความจริงด้านลบแบบที่ยังไม่ถูกปั้นนั้นยังตามหลอกหลอนมโนสำนึกอยู่ จึงยังมีการยกการปั้นน้ำเดิมๆ ขึ้นมาพูดกันอีกในช่วงเวลานี้ว่า “การไม่รักษาสัญญาหรือไม่สามารถรักษาสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่คำประกาศของทักษิณว่ากลับมารับใช้ใคร มัดชัดเจนแล้วว่ามี “ดีลลับ” ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง ดังนั้น คำสัญญาในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งที่ว่า “พรรคเพื่อไทยจะไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับฝ่ายทำรัฐประหาร” จึง “ไม่ใช่คำสัญญา” ตั้งแต่แรก จะเรียกว่า “การละคร” หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก แต่นั่นคือการดูถูกประชาชนที่คุณอ้างว่าเคารพนักเคารพหนาหรือไม่

เราควรจะพูดกันตรงๆ แบบไม่ปั้นน้ำว่า การไม่รักษาสัญญาเป็น “ส่วนหนึ่ง” หรือเป็น “ธรรมชาติ” ของระบบเผด็จการมากกว่า เพราะเผด็จการคือผู้ผูกขาดอำนาจในการให้สัญญาแต่ฝ่ายเดียว ประชาชนไม่มีความหมาย ดังนั้น เผด็จการจะทำหรือไม่ทำตามสัญญายังไงก็ได้

ส่วนในระบอบประชาธิปไตย ก็ย่อมเป็นไปได้ที่การไม่รักษาสัญญา “อาจเกิดขึ้นได้” แต่นั่นไม่ใช่การ “เป็นส่วนหนึ่ง” หรือ “เป็นธรรมชาติ” ของระบอบประชาธิปไตย ตรงกันข้าม ธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยคือการตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบการไม่ทำตามสัญญาของบุคคลหรือกลุ่มอำนาจต่างๆ ทางการเมือง ขณะที่การเพิกเฉย ไม่ตั้งคำถามหรือวิจารณ์ตรวจสอบการไม่ทำตามสัญญามันผิดธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ถ้ามีพรรคการเมืองบางพรรคถือว่าการไม่รักษาสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย และเป็นพรรคที่ไม่รักษาสัญญาเสมอๆ ประชาชนที่มีสิทธิเลือกเขาจะเลือกพรรคนั้นเสมอๆ งั้นหรือ แน่นอนว่าประชนส่วนใหญ่ย่อมไม่เลือกพรรคที่ทำผิดสัญญาเสมอๆ นี่คือความต่างจากระบบเผด็จการที่ประชาชนเลือกไม่ได้ และตั้งคำถามกับการไม่รักษาสัญญาไม่ได้

แล้วทำไมโหวตเตอร์เพื่อไทยยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทย? ที่พวกเขายังสนับสนุน ไม่ใช่สนับสนุนการตระบัดสัตย์หรอก (อย่าดูถูกประชาชนสิ) ที่ยังสนับสนุนอยู่ เพราะพวกเขายังเชื่อว่าเพื่อไทยจะ “ทำตามสัญญา” ในเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น เรื่องแก้ปัญหาปากท้องเป็นต้น

พูดให้ชัดขึ้นคือ การไม่รักษาสัญญา อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในทางการเมือง ธุรกิจ ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและอื่นๆ แต่มันไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็น “เรื่องปกติที่ควรยอมรับ” เหมือนโรคร้ายอาจเกิดขึ้นได้ในร่างกาย แต่เราไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย จึงต้องหาวิธีขจัดโรคร้ายนั้นๆ การตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบ “ตามกระบวนการ” ของระบอบประชาธิปไตย ก็เพื่อแก้ปัญหาการไม่รักษาสัญญาของพรรคการเมือง การซื้อเสียง การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นต้นให้มีน้อยลงมากที่สุด และตราบที่ยังทำตามหรือรักษากระบวนการนี้อยู่ รัฐประหารย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ที่รัฐประหารเกิดขึ้นได้ ก็เพราะกลุ่มชนชั้นนำไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตยต่างหาก พวกเขาจึงใช้พฤติกรรมของนักการเมืองมาเป็น “ข้ออ้าง” ในการทำรัฐประหาร ปัญหาการเกิดรัฐประหาร จึงไม่ได้มาจากการวิจารณ์ตรวจสอบพรรคการเมืองและนักการเมืองบนหลักการประชาธิปไตย

ดังนั้น การวิจารณ์รัฐบาลเพื่อไทยในปัจจุบันบนจุดยืนประชาธิปไตย เช่น ทำไมจึงไม่เร่งกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยให้สำเร็จ ทำไมจึงไม่นิรโทษกรรมคดี 112 หรือให้การคุ้มครองสิทธิประกันตัวของนักโทษทางความคิดเป็นต้น มันไม่ “เข้าทาง” ของฝ่ายทำรัฐประหารเหมือนการโจมตีของพวกเสื้อเหลืองได้หรอก อย่าพยายาม “ปั้นแต่ง” ให้เป็นเช่นนั้นเลย

เพราะจริงๆ เพื่อไทยได้เข้าร่วมตั้งรัฐบาลกับฝ่ายทำรัฐประหารตัวเองไปแล้ว จะถูกเขาทำรัฐประหารอีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพวกเขาเองจะดีลกันอย่างไรแล้ว การไม่รักษาสัญญาเรื่องที่ว่าจะไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับฝ่ายทำรัฐประหาร ก็ “ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย” หรอก แต่ “เป็นส่วนหนึ่งของการคืนดีกันของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองที่เคยขัดแย้งกัน” และผลตามมาของการคืนดีกันของพวกเขา ก็คือการห้ามแตะหมวดสถาบันกษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (ถ้ามี) ห้ามแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วทำไมพรรคเพื่อไทยจึงปฏิเสธการนิรโทษกรรมคดี 112 ล่ะ เราก็น่าจะเดาออกว่าคงอยู่ในเงื่อนไขของการคืนดีกันนั้นด้วย

พูดใช้ชัดคือ เงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสำเร็จไม่ได้ แก้ 112 ไม่ได้ นิรโทษกรรมคดี 112 ไม่ได้เป็นต้น มันคือ “การทำตามสัญญา” ของกลุ่มชนชั้นนำที่คืนดีกัน และนั่นคือสาเหตุของ “การไม่รักษาสัญญา” ที่พูดไว้กับประชาชนตอนหาเสียงและสมัยเป็นฝ่ายค้าน

แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าเราทุกคนยึดถือร่วมกันว่า “การไม่รักษาสัญญาเป็นเรื่องปกติที่ควรยอมรับได้” สังคมก็คงจะเต็มไปด้วยคนประเภทที่ "ขัดแย้งกับตัวเอง" หรือ "เถียงกับตัวเอง" แบบในอดีตตระโกน "ปล่อยอากงๆ"  "ต้องปฏิรูประบบๆ" "คนสั่งฆ่าประชาชน 6 ตุลากับครั้งอื่นๆ แทบจะเป็นคนเดียวกัน" แต่ปัจจุบันกลับบอกว่า "112 เค้าให้ประกันนะ แต่ทำผิดเงื่อนไขหรือเปล่าเค้าถึงถอนประกัน" "จะตระโกนปฏิรูปโครงสร้างๆ ทำไม" "ผู้มีอำนาจคือใครไม่รู้ บอกชื่อ นามสกุลมาหน่อยสิ" อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่

แต่การเมืองที่ประชาชนยังมีสิทธิ์เลือกได้ (แม้ไม่สามารถเลือกเรื่องสำคัญๆ ได้ทั้งหมดตามมาตรฐานประชาธิปไตยสมัยใหม่) คุณจะทำให้การไม่รักษาสัญญาเป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตยไม่ได้หรอก เพราะคนทั่วไปก็ไม่ใช่คนประเภทที่ขัดแย้งกับตัวเองหรือเถียงกับตัวเองได้ขนาดนั้น ดังนั้น พรรคเพื่อไทยที่อยู่มาได้ ก็เพราะเคยพิสูจน์ตัวเองจาก “การทำตามสัญญา” ในเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้สำเร็จมาก่อนเป็นต้น

แต่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสองทศวรรษที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ได้ทำให้เกิด “สัญญาใหม่ที่ขัดกัน” นั่นคือ “สัญญาระหว่างกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองที่เคยขัดแย้งกันแล้วกลับมาคืนดีกัน” กับ “สัญญาการเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย” ที่พรรคเพื่อไทยเองเคยให้ไว้กับประชาชนก่อนเป็นรัฐบาลในสมัยนี้ เป็นสัญญาที่พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชนให้ไว้กับประชาชน และเป็นสัญญาที่ประชาชนผู้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยอุดมการณ์ให้ไว้กับประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งคนเหล่านั้นจำนวนมากยังอยู่ในคุก และลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศที่ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะได้กลับบ้านเมื่อไร

สัญญาใหม่ที่ขัดกัน กลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะลงเอยอย่างไร แต่ถ้าสังเกตหน่อยก็จะเห็นได้ว่าหลังเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน เสียงเรียกร้องให้ “นิรโทษกรรม 112” เบาบางกว่าที่คิด ก่อนเลือกตั้งเรามีความหวังว่าถ้า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ชนะ จะมีการนิรโทษกรรมได้ แต่หลังตั้งรัฐบาลเพื่อไทยแล้วก็เหมือนว่าจะหมดหวัง และทุกวงการไม่ว่าวงการสื่อ นักวิชาการและอื่นๆ ก็พูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม 112 น้อยมาก เสมือนว่า “นักโทษทางความคิดไร้ตัวตน” ขณะที่ทักษิณและเพื่อไทยก็เน้นประชาสัมพันธ์ขายฝันเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องรายวัน พวกเดอะแบกก็ปั้นแต่งว่าแนวทางของเพื่อไทยคือการผูกมิตรกับทุกฝ่าย ทุกกลุ่มการเมือง

แต่คำถามคือ แล้วประชาชนที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ยังติดคุกและลี้ภัยการเมือง ไม่ใช่ “มิตร” ที่เพื่อไทยควรผูกไมตรีด้วยเช่นนั้นหรือ การคืนดีของเพื่อไทยกับฝ่ายอำนาจที่ทำรัฐประหารภายใต้ “สัญญาใหม่” กับ “ผู้มีอำนาจ” ที่เพื่อไทยรับใช้ ทำให้เพื่อไทยทิ้งสัญญาเก่าที่เคยให้ไว้กับประชาชนตั้งแต่เป็นฝ่ายค้านว่าจะเปลี่ยนโครงสร้าง (แก้รัฐธรรมนูญ) ให้เป็นประชาธิปไตย และกลุ่มชนชั้นนำที่คืนดีกัน ก็ไม่ต้องแสดง “ความรับผิดชอบ” ใดๆ ต่อประชาชนที่ติดคุกและลี้ภัยเลย นี่เท่ากับว่ากลุ่มชนชั้นนำและเดอะแบกกำลังทำให้ปัญหาของพวกเขาเหล่านั้น กลายเป็นเรื่องของ “ชะตากรรมของแต่ละคน” เท่านั้นใช่หรือไม่

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการพยายามใช้ “ภาพจำ” ของ พธม. และ กปปส. มากล่าวหาว่าข้อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เป็นการเมืองของชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักวิชาการ ซึ่งต่างจากการเมืองของคนระดับชาวบ้านที่ต้องการแก้ปัญหาปากท้อง ทั้งๆ ที่ข้อเรีกร้องในปัจจุบัน คือข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบอำนาจที่ พธม. และ กปปส. พยายามปกป้อง

อีกอย่าง การพยายามปั้นแต่ง “การเมืองปัญญาชน-การเมืองของชาวบ้าน” ก็เป็น “มายา” หรือภาพลวงตาอย่างชัดเจน ถามว่าการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างของคนอย่าง “อานนท์ นำภา” ไม่เกี่ยวกับชาวบ้านอย่างไร อานนท์ก็คือลูกชาวนา ใครที่เคยไปศาลดูการพิจารณาคดี หรือการตัดสินคดี 112 ของอานนท์ ก็จะพบว่า “ส่วนใหญ่” มีแต่คนระดับชาวบ้านลุงป้าน้าอา หรือที่เรียกกันว่า “นักสู้ธุลีดิน” ที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองมาตลอดนั่นเองที่มาเยี่ยมอานนท์ทุกครั้ง และการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองที่อานนท์เรียกร้อง ก็ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของชนชั้นกลางในเมือง ปัญญาชน นักวิชาการเท่านั้น ชนชั้นล่าง และแม้แต่พรรคเพื่อไทยเองก็ย่อมได้ประโยชน์ด้วยโดยตรง

ปลายปี 2567 เพิ่งมีสื่อพูดถึงอานนท์มากขึ้นหน่อย หลังจากที่เขาถูกศาลตัดสินคดี 112 ไปแล้ว 6 คดี โทษจำคุก 18 ปีกว่าๆ และมีกระแสโซเชียลยกย่องเขาให้เป็น “บุคคลแห่งปี 2567” แต่ก็ไม่มีวี่แววใดๆ ว่าปี 2568 พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจะ “ร่วมมือกัน” ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่รวมคดี 112 ด้วย ทั้งๆ ที่ถ้าเพียงแต่สองพรรคนี้ร่วมมือกันอย่างจริงจังก็สามารถทำสำเร็จได้

คำถามคือ ทำไมไม่ร่วมมือกันให้ได้ และทำไมเดอะแบกของแต่ละพรรคไม่เรียกร้องให้พรรคการเมืองที่พวกตนสนับสนุนร่วมมือกันนิรโทษกรรมคดี 112 การปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สู้เพื่อประชาธิปไตยให้ทุกพรรคการเมืองได้ลงเลือกตั้ง “ไม่คุ้มค่า” พอที่พรรคการเมืองตัวแทนประชาชนจะ “เสี่ยง” รับผิดชอบช่วยเหลือพวกเขาเลยเช่นนั้นหรือ

หรือว่าการเมืองตั้งแต่หลังตั้งรัฐบาลมาจนวันนี้ เป็น “การเมืองแห่งการหลีกเลี่ยง” ที่จะตั้งคำถามถึง “ความรับผิดชอบ” ของพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต่อการนิรโทษกรรมนักโทษทางความคิดมาตลอด วันเวลาของรัฐบาลสมัยนี้ผ่านไปกับ “ดราม่า” ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง (เช่น นายกฯ แต่งแบรนด์เนม ไม่แบรนด์เนม และ ฯลฯ)  และการพยายามปั้นน้ำให้เป็นตัวเพื่อจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการช่วยเหลือนักโทษทางความคิดให้ออกจากคุกอย่างจริงใจ

นี่คือผลร้ายสุดของการถือกันว่าการไม่รักษาสัญญาเป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตยที่ยอมรับกันได้ จนกลายเป็นเรื่องปกติที่เราต่างละทิ้ง “สามัญสำนึก” ในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตย แล้วสร้างวัฒนธรรมปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อปกป้องศักดินาและพรรคการเมืองที่ตนแบกอย่างมืดบอดใช่หรือไม่

 

ที่มาภาพ: https://workpointtoday.com/suspension-thaksin/

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่