Skip to main content
sharethis

เวียดนามเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่สัปดาห์แรกของปี 2568 วันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา ค่าฝุ่นพุ่ง 227 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปกคลุมทั่วกรุงฮานอย ก่อนหน้านี้ฮานอยติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่อันดับที่ 9 ของโลก กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเวียดนามตั้งเป้าลดมลพิษทางอากาศ หวังให้มีวันอากาศดีอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

 

8 ม.ค. 2568 เวียดนามเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5 มาตั้งแต่ปลายปีมาจนถึงสัปดาห์แรกของปี 2568 มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) พุ่งไปที่ 227 ส่วน PM2.5 อยู่ที่ 106.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยฝุ่นปกคลุมทั่วกรุงฮานอยที่มีประชากร 9 ล้านคน และฮานอยติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่อันดับที่ 9 ของโลก

ฮุยเหงวียน (Huy Nguyen) ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศระบุว่า มลพิษทางอากาศมาจากการก่อสร้างที่กระจายอยู่ทั่วเมือง รวมถึงท่อไอเสียจากจักรยานยนต์และรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีการปล่อยคาร์บอนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทางภาคเหนือ และการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตร

ในปี 2566แอปพลิเคชั่น IQAir  จัดอันดับให้กรุงฮานอยติดอันดับ 1 ใน 10 ของเมืองที่คุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดในโลก

ฝุ่น

ฝุ่นที่ฮานอย ภาพจาก vietnamplus

เมื่อปลายปีที่แล้ว เลทันนัม (Le Thanh Nam) อธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศระหว่างการประชุมกับ รัฐบาลท้องถิ่น สภาประชาชนและคณะกรรมการ ประชาชนประจำท้องถิ่นตั้งเป้าว่าจะลดมลพิษทางอากาศเพื่อให้มีวันอากาศดีอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2567  คุณภาพอากาศของกรุงในฮานอยอยู่ในระดับที่ย่ำแย่ ค่า AQI มากกว่า 200 ซึ่งแสดงว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคน แอปวัดคุณภาพอากาศ AirVisual จัดอันดับให้ฮานอยมีมลพิษทางอากาศมากเป็นอันดับที่ 4 จาก 126 เมืองทั่วโลก โดยยังมีการประเมินว่า ระดับคุณภาพอากาศของฮานอยระหว่างวันที่ 25 ถึง 27 ธ.ค. 2567 อยู่ที่สีม่วง ซึ่งหมายความว่ามีผลกระทบต่อทุกคน

สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของกรุงฮานอยออกมาตรการบรรเทามลพิษอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการบันทึกข้อมูล  ระบบการปฏิบัติการจัดการและควบคุมคุณภาพอากาศ ลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดและสร้างความตระหนักในหมู่ประชาชน พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ตอนนี้กรุงฮานอยมีสถานีตรวจวัดอากาศอัตโนมัติต่อเนื่อง 2 สถานี และสถานีที่มีเซนเซอร์ 6 แห่ง

ทั้งนี้ กรุงฮานอยกำหนดทิศทางในการศึกษาและตั้งเป้าการลงทุนระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศเพิ่มเติม ภายใต้แผนพัฒนาระบบข้อมูล และพัฒนาการจัดการคุณภาพอากาศ

ในการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด เลทันนัม กล่าวว่า กรุงฮานอยได้ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเลนจักรยาน และเริ่มตรวจสอบการปล่อยมลพิษที่มาจากจักรยานยนต์รุ่นเก่า นอกจากนี้ยังจะลดปัญหาการจราจรแออัด ส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ

ปัจจุบันกรุงฮานอยกำจัดเตาไฟที่ใช้ถ่านหินได้แล้วเกือบ 100 เปอร์เซนต์ ลดการเผาหญ้าแห้งและของเหลือใช้จากเกษตรกรรม 80 เปอร์เซนต์ในพื้นที่ชานเมือง รวมทั้งระงับการเผาอิฐแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2564 กรุงฮานอยมีต้นไม้ใหญ่ 147,500 ต้น ไม้ประดับ 110,806 ต้น  และไม้พุ่ม 549,449 ต้น

ด้านฮวงเซืองดุง (Hoang Duong Tung)  ประธานเครือข่ายอากาศของเวียดนามกล่าวว่า กรุงฮานอยมักติดอันดับเมืองที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก จากการติดตามข้อมูลพบว่า ในช่วงฤดูหนาว ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะช่วงเช้ามืดระหว่าง 2.00 น.ถึง 6.00 น. สภาพอากาศที่ย่ำแย่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และส่งผลระยะยาวต่อคนรุ่นหลัง เช่น มีอายุขัยน้อยลง รัฐต้องแบกรับภาระทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจสังคมเพิ่มขึ้น

กรุงฮานอยผ่านกฎหมายจัดตั้งพื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำซึ่งจะมีการจำกัดไม่ให้ยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเข้าไปยังพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดมาตรฐานไว้ เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีการจัดพื้นที่ลักษณะนี้กว่า 300 แห่ง Tung กล่าวว่า ประสิทธิภาพของการลดมลพิษทางอากาศขึ้นอยู่กับว่ามีการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ ได้จริงแค่ไหน เขาเพิ่มเติมด้วยว่า การเผาหญ้าแห้งหลังเก็บเกี่ยวยังคงดำเนินอยู่ แม้ว่าจะมีกฎหมายออกมามากมายก็ตาม

โดยทางการต้องปรับผู้ที่เผาในพื้นที่เกษตรกรรม หรือเพิ่มทางเลือกในการจัดการวัสดุเหลือจากการเกษตรให้กับเกษตรกรแทนการเผา ขณะเดียวกันต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับแหล่งปล่อยมลพิษทางอากาศอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และมีข้อมูลเชื่อถือได้และแม่นยำ พร้อมกับกรอบเวลาที่ชัดเจน

 

เรียบเรียงจาก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่