เมื่อ 3 ม.ค. 2567 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน ได้ออกมายืนยันว่า เว็บไซต์เลขาธิการรัฐสภาเผยว่า วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้บรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และมีการเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการเลือกตั้ง สสร. โดยคาดว่าจะมีคิวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา 14-15 ม.ค.นี้
หลายฝ่ายต่างก็จับตากันว่า ร่างของพรรคประชาชน จะสามารถฝ่ากำแพงที่เรียกว่า สว. ไปได้หรือไม่ เนื่องจากร่างของพรรคประชาชน มีการตัดอำนาจเสียงของ สว. 1 ใน 3 ในการแก้รัฐธรรมนูญออกไป และอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจถูกนำมาใช้คว่ำร่างของพรรคประชาชน เนื่องจากบางฝ่ายมองว่า สามารถแก้ไขได้ทั้งฉบับรวมถึงหมวด 1 และ 2
ฝ่ายสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยประชามติ 2 ครั้ง และยื่นแก้ไข ม. 256 ให้มีการจัดตั้ง สสร.อีกก๊ก คือ พรรคเพื่อไทย โดยเมื่อ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม สส.พรรค มีมติยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แล้ว แต่ยังไม่เห็นร่างใหม่ว่าเนื้อหาจะเหมือนร่างเดิมที่เคยยกร่างไว้แล้วหรือไม่เพียงใด ส่วนวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.พรรคเพื่อไทย เปิดเผยเรื่อง การตัดเงื่อนไขใช้ สว. 1 ใน 3 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นให้เป็นเรื่องของ สสร. พิจารณา
เพื่อเป็นการโหมโรงก่อนก่อนการพิจารณาของรัฐสภา ประชาไทเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และกระบวนการเลือกตั้ง สสร. ระหว่างพรรคเพื่อไทย (ซึ่งในทีนี้จะใช้ฉบับที่เคยยกร่างไว้เมื่อปี 2567 เนื่องจากยังไม่เห็นร่างใหม่ที่จะต้องผ่านมติ สส.พรรค) กับร่างล่าสุดของพรรคประชาชนที่บรรจุเข้าวาระการพิจารณาของสภาแล้วว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร
รธน. 2560 กำหนด สว. 1 ใน 3 ต้องเห็นชอบ
เริ่มจากมาส่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 256 แต่เดิมระบุว่า ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือต้องใช้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนอย่างน้อย 1 ใน 5 ของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือสมาชิกสภาฯ และวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือประชาชนเข้าชื่ออย่างน้อย 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมาย
ในการออกกฎหมายจะมีทั้งหมด 3 วาระ (1. ชั้นรับหลักการ 2. ชั้นพิจารณาร่างกฎหมายในชั้น กมธ. และ 3. ชั้นออกกฎหมาย) โดยมาตรา 256 วรรค 3 ในชั้นวาระ 1 หรือชั้นรับหลักการ รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับว่า จะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ 2 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แต่ต้องมีเสียง สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน สว.ทั้งหมดที่มีอยู่
อีกจุดที่จะเป็นประเด็นสำคัญต่อมา คือในมาตรา 256 วรรค 6 ที่ระบุถึงการออกเสียงลงคะแนนในวาระ 3 ของการออกกฎหมาย รัฐธรรมนูญเดิม ระบุว่า หากต้องการผ่านกฎหมายก็ต้องใช้เสียงของ 2 สภา จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของ 2 สภาที่มีอยู่ โดยในจำนวนคนที่ 'เห็นชอบ' ต้องมี สส.ฝ่ายค้าน เห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และยังกำหนดอีกว่า ในจำนวนนี้ต้องมีเสียง สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน สว.ทั้งหมดที่มีอยู่
เงื่อนไขเรื่องจำนวนเสียง สว.ที่ต้องได้ 1 ใน 3 เสียง จะเป็นด่านสำคัญที่สุดที่ฝ่ายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการทำประชามติ 2 ครั้ง ต้องฝ่าไปให้ได้
ผู้ริเริ่มแก้ รธน. 2 พรรคเหมือนกัน
เมื่อหันมาดูร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ระบุเหมือนกันในมาตรา 256 ในวรรค 1 ว่า การยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนอย่างน้อย 1 ใน 10 ของจำนวนทั้งหมดที่มีอยู่ หรือสมาชิกสภาฯ และสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ หรือประชาชนสามารถยื่น 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายได้
อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทย กำหนดว่าในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ต้องได้เสียง 'เห็นชอบ' อย่างน้อยกึ่งหนึ่งจากจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของ 2 สภาเท่านั้น
ขณะที่ของพรรคประชาชน กำหนดว่า วาระที่ 1 และ 3 ต้องใช้เสียงอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของ 2 สภา และในจำนวนนี้ต้องมี สส. 'เห็นชอบ' อย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดของสมาชิกสภาฯ ที่มีอยู่ ดังนั้น มีข้อสังเกตว่า ทั้ง 2 ร่างฯ ตัดเงื่อนไขว่าจำนวนเสียงของ สว. 1 ใน 3 ออกไป
ปชน. แก้หมวด 15 ต้องทำประชามติก่อน ส่วน พท.ไม่ได้กำหนด
อีกจุดที่เป็นกระแสถกเถียงในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคประชาชน คือมาตรา 256 วรรค 8 ลองมาดูกันว่าแต่ละร่างฯ ว่าอย่างไร
เดิมในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 256 วรรค 8 ระบุว่า หากแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 ว่าด้วยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ ต้องมีการทำประชามติก่อน ถ้าเห็นชอบ จึงนำร่างทูลเกล้าฯ ต่อไป
พรรคประชาชน มาตรา 256 วรรค 8 ระบุเพียงว่า กำหนดให้หมวด 15 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีการจัดทำประชามติก่อน หากเห็นชอบ จึงค่อยนำร่างทูลเกล้าฯ
ดังนั้น ร่างของพรรคประชาชน ไม่ได้พูดถึง หมวด 1 และ หมวด 2 รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงแหน่งตามรัฐธรรมนูญ กับเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ไม่ได้กำหนดในส่วนนี้ข้ามไปเลย ไม่มีในส่วนนี้
ที่มา สสร. ทั้งสองพรรคมาจากเลือกตั้งทั้งหมด
ร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ระบุว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะมีจำนวนสมาชิก 200 คนโดยมาจากการเลือกตั้ง แต่มีความแตกต่างในรายละเอียดของการเลือกตั้ง
พรรคประชาชนกำหนดให้การเลือกตั้ง สสร. แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ การเลือกตั้งแบบเขตโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 100 คน บวกกับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งอีก 100 คน แต่ของพรรคเพื่อไทย กำหนดให้ สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
ความต่างกรรมาธิการยกร่าง ฉบับ พท. กับ ปชน.
เป็นธรรมดาที่การยกร่างรัฐธรรมนูญ แม้มี สสร. ก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างตั้งต้นตามแนวทางของ สสร. ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ทำเช่นนี้
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน กำหนดว่า ให้ สสร. แต่งตั้ง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางของ สสร.
ฉบับพรรคเพื่อไทย - มี กมธ. 47 คน ประกอบด้วย
- เป็นสสร. 24 คน
- สมาชิก 23 คน ส.ส.ร. แต่งตั้งจากรายชื่อของสภาผู้แทนราษฎร 12 คน ตามสัดส่วนของ สส.ของแต่ละพรรคในสภาผู้แทนราษฎร , วุฒิสภาเสนอชื่อ 5 คน และ ครม. เสนอชื่อ 6 คน
ฉบับพรรคประชาชน - มี กมธ. อย่างน้อย 45 คน
- เป็น สสร. สัดส่วน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิก กมธ.
- สสร. แต่งตั้งบุคคลอื่นนอกหรือใน สสร.ก็ได้ โดยคำนึงความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการทำหน้าที่ จำนวนเท่าที่จำเป็น
ระยะเวลายกร่าง พท. 180 วัน-ปชน. 360 วัน
พรรคประชาชน และเพื่อไทย กำหนดแตกต่างกันในเรื่องระยะเวลาที่ให้ สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยของพรรคเพื่อไทยกำหนดให้ยกร่างฯ ภายใน 180 วันนับตั้งแต่การประชุมครั้งแรกของ สสร. และต้องเริ่มกระบวนการยกร่างภายใน 30 วันนับตั้งแต่ กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง สสร.
พรรคประชาชน กำหนดให้ สสร.มีเวลายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 360 วันนับตั้งแต่วันประชุมครั้งแรก และต้องเริ่มกระบวนการยกร่างภายใน 15 วันนับตั้งแต่ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง สสร.
ข้อจำกัดอำนาจของ สสร.
ในส่วนของอำนาจ สสร. ของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย จะมีความแตกต่างกัน โดยของพรรคเพื่อไทยกำหนดว่าการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์) จะไม่สามารถทำได้
พรรคประชาชน กำหนดว่า อำนาจของ สสร.ไม่สามารถจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐได้
ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 255 กำหนดว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ระบุตรงกันว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือมีการยุบสภาก่อนที่ สสร.จะทำหน้าที่แล้วเสร็จ เรื่องนี้จะไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ของ สสร.
กระบวนการหลังยกร่างรัฐธรรมนูญ
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ระบุว่า หลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จแล้ว สสร.ต้องเสนอร่างใหม่ต่อรัฐสภา และรัฐสภาต้องพิจารณา ‘เห็นชอบ’ ภายใน 30 วัน หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ให้ถือว่าเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว หากมีเรื่องไม่เห็นด้วยอยากให้แก้ไขเพิ่มเติม ต้องส่งรัฐธรรมนูญกลับไปให้ สสร.พิจารณาอีกครั้งว่าจะแก้ไขตามรัฐสภา หรือยืนยันตามรัฐธรรมนูญเดิม โดยการยืนยันนั้นใช้เสียงเห็นชอบของ สสร. จำนวน 2 ใน 3
หลังจากนั้น กกต. จัดทำประชามติว่าประชาชนจะรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จัดทำโดย ส.ส.ร. หรือไม่ ภายในระยะเวลา 90-120 วันนับตั้งแต่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากรัฐสภา
เมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นให้ประกาศผลภายใน 15 วัน หากประชามติผ่านการเห็นชอบ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป แต่หากว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการเห็นชอบจากการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะตกไป
หากรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญถูกปัดตก คณะรัฐมนตรี หรือสมาชิก สส. จำนวนอย่างน้อย 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ หรือ สส. และ สว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของ 2 สภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การออกเสียงให้ความเห็นชอบของรัฐสภา ต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของ 2 สภา ทั้งนี้ คนที่เคยเป็น สสร. แล้ว จะเป็นสมาชิก สสร.อีกครั้งไม่ได้
ในส่วนของพรรคประชาชน ระบุว่า เมื่อ สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้นำเสนอต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณาอภิปรายแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่ต้องลงมติ
รัฐสภาจะต้องจัดให้มีการอภิปรายแสดงความเห็นโดยใช้เวลา 2 วัน จากนั้น ต้องส่งให้ กกต.ภายใน 7 วัน เพื่อให้มีการออกเสียงประชามติ และ กกต.ต้องจัดทำประชามติภายในระยะเวลา 90-120 วันนับตั้งแต่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากรัฐสภา เมื่อการออกเสียงประชามติเสร็จสิ้นให้ประกาศผลภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันออกเสียงประชามติ
กรณีที่ผลประชามติ ‘เห็นชอบ’ ให้ประธาน สสร.นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หาก ‘ไม่เห็นชอบ’ ให้ถือว่าตกไป พร้อมกำหนดบทที่ใช้บังคับกรณีที่การจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นตกไปด้วยว่า ให้สิทธิสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ 1 ครั้งในสมัยของรัฐสภา โดยใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ และต้องมี สส.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ทั้งนี้ บุคคลที่เป็น สสร.มาแล้ว จะเป็น สสร.อีกไม่ได้
นอกจากนี้ พรรคประชาชนกำหนดว่า ต้องมีการจัดทำ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ภายใน 180 วัน หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)