มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ SHRF รายงานว่าช่วงปี 2567 กองทัพพม่าโจมตีเป้าหมายพลเรือนรัฐฉานตอนเหนือ เสียชีวิตมากกว่า 200 ราย
เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2567 มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ SHRF รายงานว่ากองทัพของรัฐบาลทหารพม่าโจมตีทางอากาศและด้วยปืนใหญ่ต่อเป้าหมายพลเรือนในรัฐฉานทางตอนเหนือโดยเน้นเป้าหมายพื้นที่ที่มีโครงการสร้างรางรถไฟของจีนสายหมู่แจ้-มัณฑะเลย์ เป็นเหตุให้มีพลเรือนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากกว่า 200 ราย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ยึดครองภายใต้กลุ่มกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และอยู่ห่างจากแนวหน้าของการสู้รบ
สภากองทัพพม่า SAC หรือรัฐบาลทหารพม่า ได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและโจมตีด้วยปืนใหญ่ใส่เมือง 9 แห่งทางตอนเหนือของรัฐฉาน รวมถึงในเมืองกุ๊ดของมัณฑะเลย์ จนเป็นเหตุให้มีพลเรือนเสียชีวิต 68 ราย ได้รับบาดเจ็บ 136 ราย และสร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้าง 339 หลัง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน, คลินิค, วัด, โบสถ์, ร้านค้า และโรงงานอุตสาหกรรรม ข้อมูลเหล่านี้มาจากตัวเลขสถิติระหว่างวันที่ 9 ต.ค. ถึง 10 ธ.ค. 2567
มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ SHRF ตั้งข้อสังเกตว่าการโจมตีในครั้งนี้เน้นตั้งเป้าหมายต่อพื้นที่ที่จีนวางแผนโครงการสร้างรางรถไฟสายหมู่แจ้-มัณฑะเลย์ รวมถึงเป็นพื้นที่ๆ อยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน ซึ่งไม่ได้อยู่ในแนวหน้า และส่วนใหญ่ไม่ได้มีการสู้รบเกิดขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้
โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายหมู่แจ้-มัณฑะเลย์ เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงของจีนที่วางแผนให้มีความยาว 409.96 กม. และใข้งบประมาณ 8.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 306 ล้านบาท) โดยมีแผนการสร้างสะพาน 124 แห่ง, อุโมงค์ 60 แห่ง และ สถานีไฟฟ้าแรงงานดันสูง 11 แห่ง ซึ่งจะอาศัยผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนต่างๆ ทางตอนเหนือของรัฐฉานรวมถึงแถบแม่น้ำสาละวินที่ส่วนใหญ่มีแผนการสร้างโดยบริษัทที่รัฐบาลจีนหนุนหลัง
ก่อนหน้านี้มินอ่องหล่าย ผู้นำสภากองทัพพม่าได้เข้าพบปะกับนายกรัฐมนตรีจีน หลี่เฉียง เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 และประกาศว่าจะให้จีนเริ่มต้นโครงการ "ในพื้นที่ๆ เป็นไปได้" จากหมู่แจ้ไปจนถึงเมืองเจ้าผิวก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉานที่กองทัพพม่าทำการโจมตีใส่เมืองต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา
จากตัวเลขสถิติระหว่างวันที่ 9 ต.ค.-10 ธ.ค. 2567 พื้นที่ๆ ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือหนองเขียว มีผู้เสียชีวิต 33 ราย ผู้บาดเจ็บ 42 ราย และมีสิ่งก่อสร้างถูกทำลายมากกว่า 135 แห่ง รองลงมาคือจ็อกแม มีผู้เสียชีวิต 10 ราย ผู้บาดเจ็บ 25 ราย และมีสิ่งก่อสร้างถูกทำลาย 42 แห่ง
เหตุกองทัพพม่าโจมตีสี่ป้อ
พื้นที่อีกแห่งหนึ่งที่ถูกโจมตีจากสภากองทัพพม่าคือ สี่ป้อ โดยที่กองทัพทำการโจมตีทางอากาศหลายครั้งใส่เมืองสี่ป้อและพื้นที่รอบเมืองเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 นับเป็นเวลา 4 วัน ก่อนที่กองกำลังปลดปล่อยชาติตะอาง TNLA จะร่วมมือกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF ยึดฐานทัพกองพันทหารราบที่ 23 (IB-23) ของกองทัพพม่า ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2567
ในเหตุการณ์โจมตีโดยสภากองทัพพม่าเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 นั้น เหตุเกิดช่วงเวลาบ่าย 3 โมง เครื่องบินรบ Y-12 ของกองทัพพม่าได้ทิ้งระเบิดมากกว่า 60 ลูกใส่หมู่บ้านน้ำงูม ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสี่ป้อ ระเบิดได้คร่าชีวิตแม่ชี 2 คน และทำให้บาดเจ็บอีก 1 คน รวมถึงสร้างความเสียหายให้วัดน้ำงูมนอกจากนี้ในวันเดียวกันกองทัพพม่ายังได้ใช้เครื่องบิน Y-12 ทิ้งระเบิดใส่ตำบลต่างๆ ของสี่ป้อเป็นเหตุให้มีบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 10 หลัง
ในวันที่ 5 พ.ย. 2567 กองทัพพม่าได้ใช้ปืนใหญ่ยิงอย่างไม่เลือกเป้าหมายใส่หมู่บ้าน ปางไฮ ใกล้กับอำเภอน้ำลัน เป็นเหตุให้มีพลเรือนเสียชีวิต 2 ราย ทำให้บ้านได้รับความเสียหาย 2 หลัง ในวันที่ 23 พ.ย. ก็มีเหตุการณ์สู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังโกก้าง MNDAA เกิดขึ้นในช่วงบ่ายใกล้กับหมู่บ้านกองหาก แล้วกองทัพพม่าก็ได้ยิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้านกองหาก เป็นเหตุให้มีพลเรือนเสียชีวิต 1 ราย ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย และสร้างความเสียหายให้กับบ้าน 2 หลัง
เหตุกองทัพพม่าโจมตีมองไย
ในมองไยไม่มีการสู้รบที่ยังคงดำเนินอยู่ อย่างไรก็ตามในวันที่ 9 ต.ค. 2567 ราวบ่าย 2 โมงครึ่ง ก็มีเครื่องบินของกองทัพพม่า 2 ลำทิ้งระเบิด 4 ลูกใส่พื้นที่บ้านพักคนงานของโรงงานผลิตน้ำตาล ตานตองอู คนครัวหญิงถูกสังหารเสียชีวิต คนงานโรงงาน 9 รายได้รับบาดเจ็บและมีบ้านเรือนเสียหาย 5 หลังกับรถเสียหาย 2 คัน โดยที่น้ำตาลยี่ห้อตานตองอูเป็นบริษัทลูกในเครือ งวยยีปะเล ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า
เหตุกองทัพพม่าโจมตีแสนหวี
ถึงแม้ว่าแสนหวีจะอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกองกำลังฝ่ายต่อต้านมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 แล้ว แต่กองทัพพม่าก็ยังคงโจมตีทางอากาศหลายครั้งต่อเมืองนี้และโดยรอบเมืองนี้ในช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
กองทัพพม่าได้ปฏิบัติการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือนประชาชน 3 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 10 ต.ค. 2567 มีการทิ้งระเบิด 3 ลูกใส่หมู่บ้านหมากเข็กทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 รายและบ้าน 2 หลังเสียหาย ในวันที่ 25 ต.ค. มีการทิ้งระเบิดหนัก 300 ปอนด์ (ราว 136 กก.) 7 ลูก ใส่สองหมู่บ้านชาติพันธุ์กะฉิ่น คือ กองหอ และ กองล็อก ทำให้มีคนบาดเจ็บสาหัส 9 ราย และบ้านเสียหาย 10 หลัง ในวันที่ 27 ต.ค. ก็มีการทิ้งระเบิดหนัก 300 ปอนด์ อีก 2 ลูกใส่เขต 3 ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 10 ราย และมีบ้านสองหลังเสียหาย รวมถึงมีโบสถ์กับอาคารฝ่ายบริหารทั่วไปได้รับความเสียหายด้วย
เหตุกองทัพพม่าโจมตีล่าเสี้ยว
นับตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2567 เป็นต้นมา ล่าเสี้ยว ได้กลายเป็นพื้นที่ๆ อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังโกก้าง MNDAA แต่ในช่วงระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ย. 2567 กองทัพพม่าได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศรอบๆ เมืองล่าเสี้ยวหลายครั้ง
เช่นในเดือน ต.ค. มีการโจมตีในวันที่ 12, 14, 22, 23, 25 และ 29 โดยแต่ละครั้งวางเป้าหมายโจมตีต่างกันไปในหลายหมู่บ้าน เป็นเหตุให้มีโรงเรียนพังเสียหาย มีบ้านเรือนหลายหลังและโบสถ์ 1 แห่งเสียหาย มีวัดชื่อ "Sasana 2,500" ได้รับความเสียหายจากระเบิด 500 ปอนด์ (ราว 227 กก.) นอกจากนี้ยังมีโรงกลั่นเหล้า, โรงงานแบตเตอร์รี, สถานีตำรวจ และเรือนจำ ได้รับความเสียหายด้วย
ในเดือน พ.ย. นั้น กองทัพพม่าปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 5 ราว ตี 1 ที่หมู่บ้านแม่หานซึ่งก่อนหน้านี้เคยตกเป็นเป้าหมายมาแล้วครั้งหนึ่งเป็นเหตุให้มีบ้านเรือนและคลินิคได้รับความเสียหาย ในวันที่ 24 ก็มีการโจมตีอีกครั้งที่หมู่บ้านอื่น ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ โกก้าง MNDAA ยึดครองมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2567 มีการโจมตีใส่โรงเรียนจีนและโรงเรียนรัฐ ทำให้ครอบครัวพ่อแม่ลูกได้รับบาดเจ็บ
การโจมตีทางอากาศใส่ล่าเสี้ยวโดยกองทัพพม่าในเดือน ต.ค.-พ.ย. นั้น ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อยรวม 3 ราย และบาดเจ็บรวมอย่างน้อย 8 ราย ในจำนวนผู้บาดเจ็บมีเด็กหญิงอายุ 6 ขวบรวมอยู่ด้วยคือครอบครัวที่ถูกโจมตีใส่โรงเรียน
เหตุกองทัพพม่าโจมตีกุนโหลง
ในกุนโหลงตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังโกก้าง MNDAA มาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 อย่างไรก็ตามในเดือน ต.ค. 2567 กองทัพพม่าก็เริ่มเปิดฉากโจมตีทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายพลเรือนในพื้นที่นี้อีก โดยที่ในวันที่ 19 ต.ค. มีการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านน้ำตู้ ที่อยู่ระหว่างทางหลวงกุนโหลง-ชินฉ่วยเหอ สร้างความเสียหายต่อบ้าน 10 หลัง และวัด 1 แห่ง ต่อมาในวันที่ 1 พ.ย. เครืองบินของกองทัพพม่าได้ทิ้งระเบิดในช่วงเช้าใส่บ้านเรือนประชาชนสังหารผู้หญิงไป 1 ราย และทำให้บ้านเรือน 10 หลังเสียหาย
เหตุกองทัพพม่าโจมตีทั้งปืนใหญ่และโจมตีทางอากาศใส่เมืองหนองเขียว
ในพื้นที่ทางตะวันตกและทางตอนใต้ของหนองเขียวยังคงมีการสู้รบอย่างหนักระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน TNLA กับ PDF ซึ่งกองทัพพม่าได้โจมตีทางอากาศ รวมถึงมีการใช้โดรนโจมตี และปืนใหญ่โจมตีพื้นที่เหล่านี้หลายครั้งและสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อพลเรือน ทำให้หนองเขียวเป็นพื้นที่ๆ ได้รับความเสียหายหนักที่สุดในการโจมตีใส่พื้นที่พลเรือนรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา มีปฏิบัติการโจมตีล่วงเลยมาถึงเดือน ธ.ค. 2567 ด้วย
มีการโจมตี 4 ครั้งในเดือน ต.ค. ครั้งที่หนักมากคือวันที่ 19 ต.ค. มีการทิ้งระเบิด 500 ปอนด์ ที่ทำลายบ้านเรือนประชาชน 17 หลัง สังหารพลเรือนไป 3 ราย ในนี้มีเด็กอายุ 7 ขวบรวมอยู่ด้วย ในวันเดียวกันยังมีการทิ้งระเบิดในที่อื่นๆ ของหนองเขียวอีกหลายแห่ง มีบางวันที่ทิ้งระเบิดในช่วงเดียวกับที่มีการสู้รบ ส่วนในวันที่ 27 ต.ค. กองทัพพม่าได้ยิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้าน Kam Kaw และปฏิบัติการทิ้งระเบิดทางอากาศในวันเดียวกัน ในวันที่ 28 มีการทิ้งระเบิดที่ทำลายทั้งบ้านเรือนผู้คนและร้านอาหาร
ในวันที่ 29-30 ต.ค. มีการโจมตีทางอากาศต่อหมู่บ้านโหโข (หัวขัว) ที่ TNLA ได้คุมขังทั้งนักโทษพลเรือนและเชลยที่เป็นทหารกองทัพพม่าไว้ การโจมตีดังกล่าวสังหารนักโทษไป 16 ราย เป็นพลเรือน 6 ราย และทำให้นักโทษ 66 รายได้รับบาดเจ็บ
ในเดือน พ.ย. กองทัพพม่าทำการโจมตีสิบกว่าครั้งต่อหนองเขียว มีการทิ้งระเบิดใส่โรงงานผลิตน้ำตาลชินชเวลี หมายเลข 1 ที่เป็นโรงงานน้ำตาลของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่าคืองวยยีปะเลกรุ๊ป ซึ่งการทิ้งระเบิดได้สังหารผู้คนไป 4 ราย ถัดจากนั้นอีก 2 วัน กองทัพพม่าก็ยังคงโจมตีทั้งทางอากาศและด้วยปืนใหญ่ใส่วัดและบ้านเรือนประชาชน
ในวันที่ 4 พ.ย. มีทั้งกรณีการใช้เครื่องบินเจ็ทโจมตีและใช้โดรนโจมตีหมู่บ้านของประชาชน มีการใช้โดรนอีกครั้งในวันที่ 11 เพื่อทิ้งระเบิดใสบ้านเรือนและร้านอาหารเสียหาย ในวันที่ 12 เป็นวันที่พลเรือนเสียหายหนักมาก เนื่องจากกองทัพได้ทิ้งระเบิด 10 ลูก ซึ่งส่วนหนึ่งโดนร้านน้ำชาที่กำลังเต็มไปด้วยลูกค้าจนมีผู้เสียชีวิต 11 ราย และบาดเจ็บ 11 ราย นอกจากนี้ยังทำลายบ้านเรือน ร้านค้า สิบกว่าหลังและรถนับสิบคัน
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีการทิ้งระเบิดใส่ทั้งสิ่งก่อสร้างของตำรวจและของศาลคือในวันที่ 13 พ.ย. ในวันที่ 16 มีเด็กอายุ 12 ขวบเสียชีวิตอีกรายหนึ่งเพราะระเบิดจากเครื่องบินของกองทัพพม่า ในวันที่ 18 มีระเบิดที่สร้างความเสียหายให้โรงงานน้ำตาลชินชเวลี แห่งที่ 2 หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 20-24 ก็มีการโจมตีจากกองทัพพม่าใส่พื้นที่ต่างๆ โดยมีอยู๋ครั้งหนึ่งที่เป็นการโจมตีด้วยปืนใหญ่ยิงใส่หมู่บ้านทำให้พระสงฆ์ 1 รูปมรณภาพ และอีก 3 รูปได้รับบาดเจ็บ
ในวันที่ 27 พ.ย. และวันที่ 9-10 ธ.ค. ก็มีเหตุโจมตีจากกองทัพพม่าไปพร้อมๆ กับการสู้รบระหว่าง TNLA กับ กองทัพพม่า มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ระเบิดไปตกใส่โรงงานน้ำตาลชิน ชเวลี หมายเลข 1 อีกครั้ง สร้างความเสียหายเพิ่มเติมทั้งกับอาคารโรงงานและกับรถ รวมถึงมีผู้บาดเจ็บ
เหตุกองทัพพม่าโจมตีน้ำสั่น-ก๊ดขาย
น้ำสั่น เมืองสำคัญของชาติพันธุ์ตะอาง เป็นเมืองที่ถูกยึดครองโดย TNLA มาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2566 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไม่มีการสู้รบเกิดขึ้นในพื้นที่ กองทัพพม่าได้โจมตีหมู่บ้านในเมืองน้ำสั่นเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 ช่วงตี 1 ครึ่งด้วยระเบิด 500 ปอนด์ สังหารหญิง 1 ราย และทำให้บ้านเสียหาย 2 หลัง
ในเมืองก๊ดขายนั้นมีการทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือนประชาชนเมื่อวันที่ 28 ต.ค. กับ วันที่ 1 พ.ย. และ 14 พ.ย. ซึ่งในวันที่ 1 นั้นมีการใช้เครื่องบิน MiG-29 ในการทิ้งระเบิด 10 ลูกใส่อาคารพลเรือนเมื่อเวลาตีสาม ทำให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ, สำนักงานดับเพลิง, สถานีตำรวจ, ประตูเก็บค่าผ่านทาง และบ้าน 10 หลัง ได้รับความเสียหาย มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย ในวันที่ 17 มีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งกับโบสถ์แบ๊บติสต์, เกสท์เฮาส์ และบ้านเรือนประชาชน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 13 ราย
เหตุกองทัพพม่าโจมตีเมืองกุ๊ด และจ็อกแม
เหตุโจมตีที่เมืองกุ๊ดเกิดขึ้นช่วงเที่ยงคืนกลางดึกตอนที่คนกำลังนอนหลับ เครื่องบินของกองทัพพม่าทิ้งระเบิด 5 ลูก ทำให้บ้านเรือนเสียหาย 50 หลัง มีพลเรือนเสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 13 ราย
ในจ็อกแม เป็นที่ๆ กองกำลังฝ่ายต่อต้าน TNLA และ PDF ยึดครองพื้นที่บางส่วนอย่างอำเภอเมืองหง่อ ของจ็อกแมเอาไว้ได้เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2566 และในวันที่ 6 ส.ค. 2567 กลุ่มต่อต้านก็สามารถยึดครองจ็อกแมได้ทั้งหมด
กองทัพพม่าได้ทิ้งระเบิดใส่จ็อกแมสองวันคือวันที่ 17 พ.ย. และวันที่ 30 พ.ย. ซึ่งครั้งหลังนี้นับเป็นวันปีใหม่ของชาวไทใหญ่ ในครั้งหลังนี้สร้างความเสียหายรุนแรงจากระเบิด 500 ปอนด์ 2 ลูกที่ อินจินตอง (ดอยเปา) ในเขต 8 เป็นเหตุให้มีพลเรือนเสียชีวิตรวม 10 ราย ในจำนวนนี้เป็นพระและแม่ชีด้วย รวมถึงมีผู้บาดเจ็บ 20 ราย มีบ้านนับ 40 หลัง วัด 2 แห่ง กับรถอีก 10 คัน ได้รับความเสียหาย
ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)