ผลสำรวจล่าสุดชี้ คนรุ่นใหม่อายุ 25-34 ปีในสหรัฐฯ ที่ไม่จบปริญญา ชาย-หญิงทำงานต่างสายอาชีพชัดเจน แต่กลุ่มจบปริญญามีโอกาสทำงานสายเดียวกันมากกว่า ขณะที่แนวโน้มผู้หญิงไม่จบปริญญาเริ่มบุกเบิกอาชีพที่เคยมองว่าเป็นงานผู้ชาย สะท้อนการแบ่งแยกทางอาชีพที่ลดลง
การวิเคราะห์จาก Pew Research Center แสดงให้เห็นว่าวุฒิการศึกษาส่งผลต่อโอกาสทางอาชีพระหว่างชายและหญิงในสหรัฐอเมริกา อย่างมีนัยสำคัญ คนรุ่นใหม่ที่จบปริญญามักมีอิสระในการเลือกอาชีพมากกว่า ขณะที่กลุ่มไม่จบปริญญายังคงเผชิญกับการแบ่งแยกทางอาชีพอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขชี้ให้เห็นแนวโน้มที่น่าสนใจ โดยผู้หญิงไม่จบปริญญาเริ่มก้าวข้ามกรอบเดิม ๆ บุกเบิกอาชีพที่เคยถูกครองโดยผู้ชายมากขึ้น สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่กำลังปรับตัวในยุคปัจจุบัน
ผู้ชาย-ผู้หญิงไม่จบปริญญา ทำงานคนละสายชัดเจน
คนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ ที่จบปริญญาตรี มักมีอิสระในการเลือกอาชีพ โดยทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถทำงานในตำแหน่งเดียวกันได้ แต่สถานการณ์กลับแตกต่างในกลุ่มที่ไม่ได้จบปริญญา เพราะมักถูกจำกัดให้ทำงานแยกตามเพศอย่างชัดเจน ตามการวิเคราะห์ข้อมูลภาครัฐล่าสุดโดย Pew Research Center
ข้อมูลปี 2023 พบว่า ผู้หญิงที่ไม่มีวุฒิปริญญามักกระจุกตัวอยู่ในงานไม่กี่ประเภท ได้แก่ พนักงานบริการลูกค้า พยาบาลและผู้ช่วยดูแลสุขภาพที่บ้าน และหัวหน้างานขาย ในทางตรงกันข้าม อาชีพยอดนิยม 3 อันดับแรกของผู้ชายที่ไม่มีวุฒิปริญญา คือ พนักงานขับรถส่งของและรถบรรทุก คนงานก่อสร้าง และคนขนของและเคลื่อนย้ายวัสดุ
ผู้หญิงที่ไม่มีวุฒิปริญญามักกระจุกตัวอยู่ในงานไม่กี่ประเภท ได้แก่ พนักงานบริการลูกค้า พยาบาลและผู้ช่วยดูแลสุขภาพที่บ้าน และหัวหน้างานขาย (ข้อมูลปี 2023)
ในทางตรงกันข้าม อาชีพยอดนิยม 3 อันดับแรกของผู้ชายที่ไม่มีวุฒิปริญญา คือ พนักงานขับรถส่งของและรถบรรทุก คนงานก่อสร้าง และคนขนของและเคลื่อนย้ายวัสดุ
ความแตกต่างของอาชีพระหว่างชายและหญิงนี้มักเรียกว่า "การแบ่งแยกทางอาชีพ" (occupational segregation) ซึ่งพบมากในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่ไม่มีวุฒิปริญญามากกว่ากลุ่มที่จบปริญญา
เมื่อพิจารณา 10 อาชีพยอดนิยมของคนหนุ่มสาวที่ไม่มีวุฒิปริญญา มีเพียง 2 อาชีพที่ทั้งชายและหญิงทำเหมือนกัน คือ พนักงานขายปลีก และหัวหน้างานขาย นอกเหนือจากนั้น อาชีพยอดนิยมของชายและหญิงที่ไม่มีปริญญาล้วนแตกต่างกัน
คนกลุ่มนี้อาจทำงานในสถานที่เดียวกันแต่ทำหน้าที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ในร้านอาหาร ผู้หญิงที่ไม่มีวุฒิปริญญามักทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ ในขณะที่ผู้ชายที่ไม่มีวุฒิปริญญามักทำงานเป็นเชฟหรือพ่อครัว
ในกลุ่ม 10 อาชีพยอดนิยมของคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป พบว่ามีการแบ่งแยกทางเพศน้อยกว่า ในกลุ่มนี้ทั้งชายและหญิงจำนวนมากทำงานใน 4 อาชีพหลัก ได้แก่ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้จัดการ นักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชี และครูประถมและมัธยมต้น
อย่างไรก็ตาม อาชีพที่มีผู้หญิงจบปริญญาทำงานมากที่สุดคือพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งไม่ติดอันดับ 10 อาชีพยอดนิยมของผู้ชายจบปริญญาเลย และในทางกลับกัน มีผู้ชายจบปริญญาจำนวนมากที่ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์หรือนักวิเคราะห์ระบบ/นักพัฒนาเว็บ ในขณะที่มีผู้หญิงทำงานในตำแหน่งนี้น้อยมาก
จบปริญญาช่วยลดช่องว่างทางอาชีพ
แม้ว่าการดู 10 อาชีพยอดนิยมจะช่วยให้เห็นความแตกต่างทางเพศในที่ทำงานได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้แสดงภาพรวมทั้งหมด ข้อมูลอาชีพจากรัฐบาลกลางระบุว่ามีอาชีพที่แตกต่างกันมากกว่า 430 อาชีพ ตั้งแต่ "ผู้จัดการ NEC" [1] ไปจนถึง "พนักงานอ่านมิเตอร์สาธารณูปโภค"
นักวิจัยได้สรุปความแตกต่างทางเพศในทุกอาชีพโดยสร้างดัชนีการแบ่งแยก ดัชนีนี้มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 100 และแสดงสัดส่วนของผู้ชายหรือผู้หญิงที่จะต้องเปลี่ยนอาชีพเพื่อให้ทั้งสองเพศมีตัวแทนเท่าเทียมกันในทุกอาชีพ ค่า 0 หมายความว่าผู้หญิงและผู้ชายทำงานในอาชีพเดียวกัน ส่วนค่า 100 หมายถึงการแบ่งแยกโดยสมบูรณ์ - กล่าวคือ ไม่มีอาชีพใดเลยที่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงทำงานร่วมกัน
ในปี 2023 ค่าดัชนีการแบ่งแยกในทุกอาชีพของคนทำงานรุ่นใหม่ที่จบปริญญา (ค่าเท่ากับ 41) ต่ำกว่าคนทำงานที่ไม่มีวุฒิปริญญา (ค่าเท่ากับ 55)
ผู้หญิงไม่จบปริญญารุ่นใหม่ ท้าทายอาชีพดั้งเดิม
จากงานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการแบ่งแยกทางอาชีพลดลงตั้งแต่ปี 1970 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่จบปริญญาที่มีการลดลงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา กลับพบว่าการแบ่งแยกทางอาชีพลดลงมากขึ้นในกลุ่มผู้หญิงรุ่นใหม่ที่ไม่มีวุฒิปริญญา
เมื่อก่อนมีการแบ่งแยกว่างานไหนเหมาะกับผู้ชาย งานไหนเหมาะกับผู้หญิง แต่ปัจจุบันการแบ่งแยกนี้เริ่มลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงรุ่นใหม่ที่ไม่ได้จบปริญญา เห็นได้ชัดจากการที่ผู้หญิงกล้าที่จะก้าวเข้าไปทำงานในอาชีพที่แต่ก่อนมักถูกมองว่าเป็นงานของผู้ชายมากขึ้น
ในปี 2023 พบว่า 22% ของช่างทาสีรุ่นใหม่ที่ไม่มีวุฒิปริญญาเป็นผู้หญิง เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเพียง 3% ในปี 2000 และผู้หญิงคิดเป็น 68% ของผู้จัดการรุ่นใหม่ที่ไม่มีวุฒิปริญญาในสายงานการตลาด โฆษณา และประชาสัมพันธ์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 22% ในปี 2000
____
[1] NEC ย่อมาจาก "Not Elsewhere Classified" หมายถึงตำแหน่งผู้จัดการที่ไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มหรือหมวดหมู่ผู้จัดการประเภทอื่นๆ ที่มีการระบุไว้เฉพาะเจาะจงได้ มักใช้ในการจัดประเภทอาชีพตามระบบมาตรฐานการจัดประเภทอาชีพ (Standard Occupational Classification) เพื่อรวบรวมตำแหน่งผู้จัดการที่มีลักษณะเฉพาะหรือไม่เข้าข่ายหมวดหมู่ทั่วไป เช่น หัวหน้าไปรษณีย์
ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)