Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจาก 'เบนาร์นิวส์' ตั้งคำถาม นโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัดของรัฐบาลไทย ส่งผลให้เกิดความสับสนและขัดแย้งกับมาตรการป้องกันอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ถูกขยายเป็น 10 วัน หรือไม่? สะท้อนให้เห็นนโยบายที่สวนทางกันระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการรักษาความปลอดภัยบนท้องถนน ขณะที่งานวิจัยชี้ว่า การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และไม่ใช่ปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้น

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประเทศไทยจะกวดขันอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย และการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงอันตรายที่ถูกยกระดับเป็นพิเศษกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ

แต่ทว่า ตั้งแต่เมื่อปีช่วงปลายปี 2566 รัฐบาลกลับออกนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงได้ถึงตี 4 ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และ อ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี โดยอ้างการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ

สุริยัน กันทะวงค์ ชาวเชียงใหม่ อายุ 44 ปี มองว่านโยบายของรัฐบาลมีความสับสนสวนทางกัน ทางหนึ่งเหมือนจะเน้นเรื่องความปลอดภัย ขณะที่อีกทางกลับส่งเสริมให้คนออกมาเที่ยวและอาจสร้างความเสี่ยงบนท้องถนน | ที่มาภาพ: วิศรุต แสนคำ/เบนาร์นิวส์

“มึนกับนโยบายของรัฐบาลเหมือนกัน ว่าจะให้เราออกไปกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือฉลองปีใหม่อยู่บ้าน เพราะการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงได้ถึงตี 4 ยิ่งทำให้คนออกมาฉลองกันข้างนอก ทำให้คนเมาอยู่บนถนนเสี่ยงอันตราย หรือไม่ก็ถูกตำรวจจับเพราะเมาแล้วขับ” สุริยัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์

คนไทยตายบนถนนเฉลี่ยวันละ 48 ราย

ปี 2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย 17,498 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 48 ราย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า ‘เมาแล้วขับ’ เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและเสียชีวิตถึง 38.3% และยังมีคนที่ต้องกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิตเฉลี่ยปีละ 10,000 คน

ด้วยเหตุนี้ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ขยายช่วงเฝ้าระวังความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่จากเดิม 7 วัน เป็น 10 วัน รวมทั้งมาตรการสำคัญ เช่น การเพิ่มด่านตรวจในชุมชน และการเข้มงวดตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย หากเกินกฎหมายกำหนดต้องสอบสวนขยายผลทุกกรณี

"เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้พี่น้องประชาชน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความสุขของพี่น้องประชาชน อยากให้ประชาชนดื่มอยู่กับบ้าน เพื่อลดอุบัติเหตุ" ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ กล่าวเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนหนึ่งที่มองว่า การขยายช่วงเฝ้าระวังความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สวนทางกับนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงได้ถึงตี 4 ซึ่งสร้างความสับสน และเหมือนเลือกปฏิบัติกับคนพื้นถิ่นที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว

"เหมือนเอากฎหมายเข้มงวดมาควบคุมเฉพาะคนไทย ให้เราฉลองอยู่บ้าน แต่การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงได้ถึงตี 4 เหมือนเอื้อให้ชาวต่างชาติมึนเมาได้เต็มที่ เมื่อปีที่แล้ว หลังประกาศใช้นโยบายแค่วันเดียว ก็มีข่าวว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเมาแล้วขับรถชนคนที่เชียงใหม่" สุริยัน กล่าว

ต่างชาติเมาแล้วขับ

ขณะเดียวกัน ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ (Thai Road Safety Center) ก็สะท้อนเช่นกันว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้รถใช้ถนนในประเทศไทย โดยพบว่าในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 624 ราย บาดเจ็บ 22,854 ราย

นโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังกรณีที่เชียงใหม่ ในช่วงสัปดาห์แรกของการใช้นโยบายนี้เมื่อปี 2566 เกิดเหตุนักท่องเที่ยวชาวกานาเมา แล้วขับชนคนงานวางสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 2 ราย โดยเหตุเกิดในเวลาประมาณ 04.00 น.

และล่าสุดที่พัทยา เมื่อ พ.ย. 2567 นักท่องเที่ยวชาวเม็กซิโกเมาแล้วขับชนพนักงานทำความสะอาดถนน บาดเจ็บสาหัส 1 ราย โดยเหตุเกิดในเวลาประมาณ 06.00 น. ซึ่งนักท่องเที่ยวรายนี้ยังพยายามหลบหนีหลังก่อเหตุด้วย

"การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 เอื้อให้เกิดอุบัติเหตุแน่นอน ไม่ใช่แค่นักดื่มเท่านั้น แม้แต่พนักงานสถานบันเทิงที่ต้องทำงานระยะเวลายาวนานขึ้น จากงานวิจัย พวกเขาให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงบนท้องถนนจากความเหนื่อยล้าที่เพิ่มขึ้น เมื่อต้องเดินทางกลับที่พัก" วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยจาก ‘โครงการการจัดทำข้อมูลรายงานประเมินผลกระทบจากการขยายเวลาเปิดดำเนินการสถานบันเทิงถึง 04.00 น.’ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวกับเบนาร์นิวส์

บรรยากาศความครึกครื้นในช่วงหลังเที่ยงคืน ของสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น วันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 | ที่มาภาพ: เบนาร์นิว

งานวิจัยนี้ได้เปรียบเทียบสถิติอุบัติเหตุในช่วง 6 เดือนก่อน และหลังการประกาศใช้นโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ตัวอย่าง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า จำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น 947 ราย จาก 15,977 เป็น 16,924 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 ราย จาก 226 เป็น 256 ราย

“นโยบายนี้อาจทำให้สถานบันเทิงที่ไม่ได้รับอนุญาต ‘ผสมโรง’ เปิดบริการเกินเวลา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่ออัตราการเกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ความรุนแรงต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงหลัง 02.00 น. เป็นต้นไปในวงกว้างมากขึ้น การควบคุมจำนวนการเกิดอุบัติเหตุและผลกระทบจากการเมาแล้วขับขี่ที่หลายหน่วยงานพยายามทำกันอยู่ก็จะทำได้ยากขึ้น” วรดุลย์ กล่าว

ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยว

จากงานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังพบด้วยว่า นโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 อาจได้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของรัฐบาล โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีขนาดไม่มากเมื่อเทียบกับต้นทุนทางสังคม

ในรายงานได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการ การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงออกไปถึงตี 4 ยอดขายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าใดนัก 

"จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ บางส่วนบอกว่านโยบายนี้ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงานและค่าสาธารณูปโภค และพวกเขายังคิดว่าการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว" วรดุลย์ กล่าว

ธีร์ เจนพิบูลย์ เจ้าของผับแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ อายุ 41 ปี มองว่าการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงออกไปถึงตี 4 สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กนั้นไม่คุ้มต้นทุนอย่างแน่นอน และเขาก็คงไม่ขยายเวลาเปิดตามนโยบายนี้

“สำหรับร้านเล็ก ๆ ไม่คุ้มค่าที่เราจะเปิดรอลูกค้าถึงตี 4 เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่าลูกค้าจะเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนต่าง ๆ เราต้องจ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน” ธีร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ส่วนผลการศึกษาอีกชิ้น เรื่อง 'การประเมินผลทางเศรษฐกิจ สุขภาพและสังคม หากมีการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับนักท่องเที่ยวยามค่ำคืน ด้วยการขยายเวลาเปิดผับบาร์ สถานบันเทิง' โดยทีมวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนทุนโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เมื่อปี 2566 ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติใน 4 พื้นที่ คือ ถนนข้าวสาร กรุงเทพ, Walking Street พัทยา, หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต และ และหาดเฉวง เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พบว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 84% ระบุว่า การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจมาเที่ยวประเทศไทย

เพิ่มโทษหนักกับคนดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ

เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2567 เนื่องใน “วันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims) เครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน มีข้อเสนอเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ที่ว่า ควรเพิ่มโทษหนักกับคนดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ทั้งจำคุกและโทษปรับ โดยมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง รวมถึงประสานงานกับสถานประกอบการต้นสังกัดผู้กระทำผิดให้มีมาตรการลงโทษ

นักดื่มชาวเชียงใหม่อย่างสุริยัน ระบุว่าส่วนตัวไม่มีปัญหาหากต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ขออย่าให้เกิดสองมาตรฐานระหว่างคนไทยกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

“หากนโยบายปิดผับตี 4 ออกมาเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาดื่มกินบ้านเรามากขึ้น ก็ควรเข้มงวดกับพวกเขาเหมือนคนไทย อย่างช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 นี้รัฐบาลบอกจะตั้งด่านในชุมชนมากขึ้น ไว้รอจับคนไทยที่เขาจะกลับบ้าน แต่ในเขตเมืองที่ผับปิดตี 4 ก็ต้องเข้มงวดกับนักท่องเที่ยวด้วย” สุริยัน กล่าว

แต่ ธีร์ เจ้าของผับ ไม่ค่อยเห็นด้วยกับมาตรการลงโทษเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ เพราะในปัจจุบันแม้จะมีบทลงโทษมากมายแต่ก็ยังมีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับให้เห็นบ่อยครั้ง เขาให้ความเห็นว่ารัฐควรมีมาตรการส่งเสริมจูงใจคนให้ตระหนักถึงประเด็นความปลอดภัยมากกว่า

“มาตรการลงโทษถูกนำมาใช้มากแล้วแต่ก็ยังมีคนเสียชีวิตมากอยู่ ก็ลองหันมาใช้มาตรการส่งเสริมจูงใจคนดูบ้าง เช่น ส่งเสริมให้นักดื่มใช้แพลตฟอร์มเรียกรถในการเดินทาง เมื่อพวกเขามีแอลกอฮอล์อยู่ในร่างกาย รัฐควรประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังหรือมีเงินอุดหนุนให้แพลตฟอร์มเรียกรถเมื่อพวกเขาไปส่งคนเมาเพื่อลดอุบัติเหตุ น่าลองจูงใจคนแบบนี้ดูบ้าง” ธีร์ กล่าว

 

เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์เบนาร์นิวส์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่