ปลายปี 2566 แนวโน้มผู้ต้องขังคดีการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นช่วงที่ ‘เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน’ เปิดประเด็นเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับการแสดงออกทางการเมือง ทั้งการชุมนุม การแสดงความเห็นออนไลน์-ออฟไลน์ที่ยังค้างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงยกเลิกโทษในคดีที่พิพากษาไปแล้ว และลบประวัติอาชญากรรม
เริ่มการรณรงค์เมื่อ 19 พ.ย.2566 จากนั้นทางเครือข่ายเปิดล่ารายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนมีผู้ร่วมลงชื่อ 35,905 คน และร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาเมื่อวันวาเลนไทน์ปี 2567 แต่ตลอดปีที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าไม่มีความคืบหน้า
ร่างกฎหมายที่รอเข้าสภาอยู่ 4 ฉบับยังไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ได้เพียงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (กมธ.นิรโทษกรรม) เมื่อ 1 ก.พ.2567 มีตัวแทนทุกพรรคการเมือง ประชุมกันอยู่ 6 เดือนจนมีรายงานออกมาในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรรับไปพิจารณาต่อ โดยเสนอ 3 ทางเลือกสำหรับ ‘คดีอ่อนไหว’ อย่างมาตรา 112 ว่า ไม่นิรโทษกรรม, นิรโทษกรรมอย่างไม่มีเงื่อนไข, นิรโทษกรรมอย่างมีเงื่อนไข
ในวาระรับทราบรายงานของ กมธ. การโหวตในสภา สส.ฝ่ายรัฐบาลเลือกเพียงรับทราบการมีอยู่ของรายงานฉบับนี้ แต่ข้อสังเกตที่จะส่งคณะรัฐมนตรีใช้เป็นแนวทางในการร่างกฎหมายต่อไป ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองและผู้ต้องขังคดีการเมืองนั้น พรรคร่วมรัฐบาลได้โหวตตกไปโดยมีเพียง สส. 11 คนจากพรรคเพื่อไทยที่โหวตร่วมกับพรรคประชาชน พรรคเป็นธรรมและพรรคไทยก้าวหน้า
ชลน่าน ศรีแก้ว สส.เพื่อไทยระบุเหตุผลของการโหวตคว่ำว่า สมาชิกส่วนใหญ่ในพรรคมีข้อกังวลว่าข้อสังเกตดังกล่าวนั้นอาจก่อผลกระทบในการสร้างความขัดแย้งทางการเมืองหากรวม ‘คดีอ่อนไหว’ อีกทั้งเนื้อหาสาระเป็นการผูกพันฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการว่าควรทำอย่างไรในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรม เช่น มีเงื่อนไขพิจารณาเพื่อสั่งไม่ฟ้องในชั้นตำรวจ อัยการ หรือการเลื่อนคดี การให้ประกันตัวของศาล ซึ่งดูเหมือนเกินขอบเขตอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ
ข้อเสนอนิรโทษฯ ล่าสุดมีอะไรบ้าง
หลังจากสภาโหวตตก ‘ข้อสังเกต’ ของรายงานไม่กี่วัน พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรค มาประกบร่างกฎหมายที่มีอยู่แล้วทั้ง 4 ฉบับและจะเสนอต่อสภาในวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่มีเห็นการยื่นร่างดังกล่าว ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.เพื่อไทยระบุว่า ร่างกฎหมายยึดตามมติที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย ที่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้ดำเนินโดยไม่แตะต้องมาตรา 110 และ 112
ส่วนร่างกฎหมายที่มีการเสนอมาก่อนหน้านี้ 4 ฉบับ ในประเด็นเรื่องมาตรา 112 นั้น แบ่งเป็น ร่างของภาคประชาชนระบุชัดเจนว่าต้องนิรโทษกรรมด้วย ส่วนของพรรคก้าวไกลให้คณะกรรมการพิจารณา ขณะที่ของพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยเพื่อประชาชนและพรรคพลังธรรมใหม่ระบุชัดเจนเหมือนกันว่าไม่รวมมาตรา 112
ส่วนที่ต่างกันอีกจุดคือเรื่องการกำหนดฐานความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมยังแตกต่างกัน คือ ในร่างกฎหมายของภาคประชาชนกำหนดไว้เพื่อที่จะให้เกิดการนิรโทษกรรมทันทีโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ตั้งมา แต่ในร่างอื่นๆ (ยกเว้นของพรรคก้าวไกล) การกำหนดฐานความผิดไว้เพื่อให้เป็นฐานในการนำคดีเข้ามาให้คณะกรรมการพิจารณาว่าจะให้นิรโทษกรรมหรือไม่
ภาคประชาชน | รวมไทยสร้างชาติ+ครูไทยเพื่อประชาชน+ระวี |
| 1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (1) กบฏ ม.113, สะสมอาวุธ มาตรา 114, ยุยงปลุกปั่น มาตรา 116 และ นัดหยุดงานประท้วง มาตรา 117 (2) ก่อการร้าย (3) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136 มาตรา 138 มาตรา 139 (4) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามมาตรา 209 วรรคหนึ่ง มาตรา 210 ถึง มาตรา 214 มาตรา 215 วรรคหนึ่ง มาตรา 216 (5) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามมาตรา 217 ถึงมาตรา 220 มาตรา 225 มาตรา 226 (6) ความผิดต่อร่างกาย ตามมาตรา 295 มาตรา 299 มาตรา 300 (7) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามมาตรา 309 วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาตรา 310 วรรคหนึ่ง มาตรา 310 ทวิ มาตรา 311 วรรคหนึ่ง (8) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 มาตรา 359 (3) (9) ความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 362 มาตรา 364 มาตรา 365 (3) หรือ (2) โดยร่วม กระท าความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ(3) 2. ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามมาตรา 30 มาตรา 31 3. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถึง พ.ศ. 2561 4. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง พ.ศ. 2561 5. พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง พ.ศ. 2560 6. พ.ร.บ.วิทยุ 7. พ.ร.บ.ทางหลวง 8. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 9. พ.ร.บ.ความมั่นคง 2551 10. พ.ร.บ.จราจรทางบก 11. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (ไม่มีฐานความผิดนี้ในร่างของระวี) 12. พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 2558 |
สิ่งที่ไม่ตรงกันอีกอย่างคือ ความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ที่ร่างของภาคประชาชนและของพรรคก้าวไกลไม่นิรโทษกรรมให้ เพราะไม่ต้องการนับรวมคนทำรัฐประหาร ส่วนของพรรคครูไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังธรรมใหม่ระบุให้รวมด้วย อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายของภาคประชาชนก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่นิรโทษกรรมให้กับประชาชนผู้ชุมนุมที่อาจถูกดำเนินคดีด้วยข้อหากบฏเสียทีเดียว
ประเด็นหลักจึงอยู่ที่คดี ‘มาตรา 112’ ที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้มีการนิรโทษกรรม เนื่องจากมีผู้ถูกดำเนินคดีมากถึง 308 คดี และอยู่ในเรือนจำระหว่างต่อสู้คดีถึง 15 คน ส่วนคดีที่ตัดสินแล้วมี 8 คน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการแก้ปัญหาในรัฐสภาจะเป็นไปได้ยาก เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ-ชาติไทยพัฒนา ยืนยันไม่เห็นด้วยให้นิรโทษกรรมมาตรา 112 ส่วนพรรคเพื่อไทยเองมี สส.บางส่วนที่พยายามผลักดันแต่ก็เป็นเสียงส่วนน้อย
พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หนึ่งใน กมธ.ศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม สส.รวมไทยสร้างชาติ เสนอว่า มาตรานี้ควรถูกพิจารณาคดีจนถึงที่สุดแล้วใช้แนวทาง ‘ขอพระราชทานอภัยโทษ’ เป็นรายบุคคล
นิรโทษฯ อย่างมีเงื่อนไขจะเป็นทางออก?
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะดูน่าสิ้นหวัง แต่ก็ยังมีช่องเล็กๆ ที่ยังไม่ถูกถกเถียงกันมากนักปรากฏอยู่ในรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรมคือ การนิรโทษกรรมให้กับคดีมาตรา 112 ‘อย่างมีเงื่อนไข’ หรือที่เรียกกันในชื่อชั่วคราวว่า Amnesty Program
ในวันสุดท้ายของการประชุม กมธ.นิรโทษกรรมได้มีการโหวตแสดงความเห็นว่าจะเอาอย่างไรกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ตามที่มีรายงานข่าวว่า สมาชิก กมธ. ทั้ง 36 คน มีคนที่ออกเสียงเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมถึง 18 เสียง โดยในจำนวนนี้เป็นเสียงที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมอย่างมีเงื่อนไขถึง 14 เสียง อีก 4 คนคือเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมอย่างไม่มีเงื่อนไข ส่วนที่เหลือ 14 คนไม่เห็นด้วยที่จะให้นิรโทษกรรม ไม่แสดงความเห็น 4 คน
แต่ในรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรมเองก็ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดชัดนักว่าเงื่อนไขที่จะให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เข้าสู่กระบวนการพิจารณาว่าจะได้รับการนิรโทษกรรมมีอย่างไรบ้าง และมาตรการที่ตามมาหลังจากยอมรับกระบวนการเป็นอย่างไร
ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงแนวทางที่สามที่ให้นิรโทษกรรมมาตรา 112 อย่างมีเงื่อนไขว่า เป็นไปเพื่อให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างฝ่ายผู้กล่าวหาแจ้งความ เจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายผู้ถูกดำเนินคดี โดยเงื่อนไขคือให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีแถลงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการเพื่อหามาตรการที่จะให้ผู้ถูกดำเนินคดีปฏิบัติตามหลังจากได้นิรโทษกรรม
ตามคำบอกเล่าของชัยธวัช ข้อเสนอนี้เกิดมาจากข้อกังวลของฝ่ายที่เห็นว่า ถ้าให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ไปแล้วผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมไปอาจกระทำซ้ำเดิมอีก แต่รูปแบบนี้ก็เป็นตัวอย่างจากต่างประเทศที่ใช้การนิรโทษกรรมให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงมีประเด็นว่าถ้าเอารูปแบบนี้มาใช้กับคดีชุมนุมทางการเมืองจะเป็นที่ยอมรับกันได้หรือไม่ แต่เขาก็ย้ำว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเหล่านี้ยังเป็นเพียงแนวคิด ใน กมธ.ก็ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ในความเห็นของอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการที่จะนิรโทษกรรมควรจะให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่จะตั้งขึ้นมาตามกฎหมายเป็นผู้พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกดำเนินคดีมาแถลงต่อคณะกรรมการมากกว่าที่จะกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขและมาตรการเหล่านี้ลงไปในกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม คดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในไทยก็แตกต่างจากตัวแบบในต่างประเทศ และถ้ามองจากมุมสิทธิมนุษยชนก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการกลับหัวกลับหาง เพราะรูปแบบกำหนดเงื่อนไขเข้าสู่การพิจารณานิรโทษกรรมและการกำหนดมาตรการไม่ให้ทำผิดซ้ำ มักถูกใช้กับผู้ละเมิดสิทธิ เช่นเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนอีกฝ่าย เพื่อเปิดช่องให้ผู้ละเมิดได้มาร่วมให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นมากกว่าเช่น กรณีในแอฟริกาใต้ที่อยู่ในช่วงการปกครองแบบแบ่งแยกสีผิว
แม้ว่าการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขนี้ดูจะเป็นความพยายามหาทางออกให้คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ไม่ต้องเดินเข้าเรือนจำเพิ่ม และเอาคนที่เข้าไปแล้วได้ออกมา แต่การวางเงื่อนไขแบบนี้ก็ถูกตั้งคำถามว่าอาจกลายเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะการกระทำที่เกิดในคดีมาตรา 112 ส่วนใหญ่เพียงการแสดงออกทางออนไลน์หรือการปราศรัยในที่ชุมนุมบนท้องถนนเท่านั้น และอาจจะมีบางคดีที่เป็นการทำลายทรัพย์สินราชการ เช่นการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ แต่คดีข้อหาอื่นๆ เช่นการใช้กำลังสลายชุมนุมหรือคดีกบฏที่โทษร้ายแรงกว่ากลับไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการลักษณะเดียวกันนี้
ณ วันนี้ก็ยังคงไม่ชัดเจนว่าทางออกของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร สุดท้ายมาตรา 112 จะได้รวมในการนิรโทษกรรมหรือไม่หรือยังมีหนทางอื่นในการช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อยู่อีก
‘ไผ่ ดาวดิน’ ชี้ปิดทางสภาพูดถึง 112 ปิดตายการเคลื่อนไหว
“ต้องยอมรับว่ามาตรา 112 เป็นความขัดแย้งที่หาทางคลี่คลายยาก และยังปิดช่องทางรัฐสภาไม่ให้พูดถึงมาตรา 112 ลองนึกภาพว่าถ้าการนิรโทษกรรมผ่านไปหมดแล้วเหลือแต่มาตรา 112 ไว้ก็จะยังเหลือความขัดแย้งของสังคมไว้อีก ไม่ได้เป็นบรรยากาศที่จะคลี่คลายสถานการณ์ มันควรจะได้ออกมาทุกฝ่ายจริงๆ”
จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน เห็นว่าถ้าเรื่องนี้ยังไม่ถูกพิจารณาในสภาและยังไม่มีการหาทางออก ก็น่าจะมีคนที่ต้องติดอยู่ข้างในเรือนจำกันอีกยาว อย่างอานนท์ นำภา ก็มีแล้ว 18 ปี 10 เดือน หรือตัวเขาเองก็มีโทษรออยู่แล้ว 2 ปี 11 เดือน
เขามองว่า ปีที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่ามาตรา 112 กำลังจะกลายเป็นเรื่องต้องห้ามพูดในทางการเมือง ทั้งกรณีพรรคก้าวไกลต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไปเพราะรณรงค์หาเสียงแก้ไขมาตรา 112 ด้วยกระบวนการทางรัฐสภาและมี สส.ของพรรคอีก 44 คนที่ยังต้องรอดูกันว่าจะถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่
หรือในตอนที่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่หลังจากเศรษฐา ทวีสิน หลุดจากตำแหน่งเพราะถูกกล่าวหาว่าขาดความซื่อสัตย์สุจริตเพราะตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนถึงวันเลือกนายกฯ คนใหม่ในวันที่ 16 ส.ค. พรรคร่วมรัฐบาลก็ประสานเสียงว่าจะไม่สนับสนุนคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 สุดท้ายก่อนถึงวันที่รายงานของ กมธ.นิรโทษกรรมจะเข้าสู่สภาพร้อมข้อสังเกตที่จะให้ ครม.รับไปพิจารณาเป็นแนวทางร่างกฎหมายของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลอยู่ก็ยังประกาศว่าพรรคจะไม่แตะมาตรา 112 ด้วย
“ถ้าการนิรโทษกรรมจะไม่รวมมาตรา 112 ด้วยก็จะเกิดคำถามว่าเป็นคดีการเมืองเหมือนกันแต่ทำไมไม่ได้ แล้วก็จะไม่มีช่องทางให้คนที่โดน มาตรา 112 ออกมาใช้ชีวิตมาเป็นพ่อของลูกมาเป็นหัวหน้าครอบครัว จะไร้หนทางออกมาเลย” จตุภัทรกล่าว
“ถ้ามองในมุมเรา การชุมนุมปี 63-64 ก็เป็นความหวังหนึ่ง แต่ก็ถูกสกัดกั้น จึงกลับมาเรื่องเดิมว่าคนส่วนน้อยที่มีอำนาจมากพยายามสกัดยับยั้งความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เขาไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เราเสนอความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเรื่องประชาธิปไตยหรือการเขียนรัฐธรรมนูญ เจ้าของประเทศชนชั้นนำต่างๆ ไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง” จตุภัทร์กล่าว
จตุภัทร์มองว่า ชนชั้นนำไม่เพียงไม่รับฟังแต่ยังมองคนที่ออกมาเรียกร้องเป็นศัตรูด้วย ในขณะที่การชุมนุมหยุดไปแล้วแต่กระบวนการยุติธรรมยังคงเดินหน้าต่อคนที่ถูกขังไปแล้วก็ถูกเพิ่มวันขังไปเรื่อยๆ โดยเขาไม่ได้มีความคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว เพราะช่องทางในการต่อสู้เพียงเพื่อพิสูจน์สิ่งที่พวกเขาพูดวิจารณ์หรือเรียกร้องนั้น ‘ข้อเท็จจริง’ เป็นอย่างที่พวกเขาพูดหรือไม่ยังถูกปิดลงไปแล้ว
ที่ผ่านมา มีหลายคดีที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่พวกเขาวิจารณ์ต่อสถาบันกษัตริย์มาให้พวกเขาได้ใช้พิสูจน์ในชั้นศาลตามที่ฝ่ายจำเลยยื่นคำร้องขอศาลไป เช่น คดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร คดีกิจกรรมราษฎรสาส์นที่เป็นการส่งจดหมายข้อเรียกร้องถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือคดีม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ ซึ่งในคดีนี้ศาลระบุในคำพิพากษาด้วยว่า ความพยายามเรียกหลักฐานของอานนท์นั้นละเมิดต่อสถาบันกษัตริย์ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ทำให้เกิดความวุ่นวายขัดต่อการปกครองด้วย
แล้วคดีที่ต้องนิรโทษกรรมมีเท่าไหร่?
สำหรับเรื่องจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีแม้กระทั่งในรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรมเองก็เจอปัญหาว่าข้อมูลจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้มีการแบ่งจำแนกไว้ว่าสถิติคดีที่มีอยู่ของหน่วยงานคดีใดเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองบ้าง นอกจากนั้นการเก็บข้อมูลยังเก็บเป็นรายคดีไม่ได้ระบุว่าในแต่ละคดีมีผู้กระทำความผิดจำนวนเท่าไหร่ ทำให้ไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง มีเพียงข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรมที่เก็บอย่างเป็นระบบ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ในส่วนของมาตรา 112 เอกสารประชุมของ กมธ.นิรโทษกรรมซึ่งมีการใช้ข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2548 ถึง กุมภาพันธ์ 2567 รวมเป็นเวลา 18 ปี มีคดีมาตรา 110-112 ซึ่งเป็นฐานความผิดต่อพระมหากษัตริย์ที่ขึ้นสู่ศาลจำนวนทั้งหมด 1,493 คดี
ทั้งนี้ข้อมูลส่วนนี้มีการแบ่งตามช่วงเวลาไว้ดังนี้
- พ.ศ. 2548-2551 มีจำนวน 266 คดี
- พ.ศ. 2552-2555 มีจำนวน 357 คดี
- พ.ศ. 2556-2562 มีจำนวน 532 คดี
- พ.ศ. 2563-2567 มีจำนวน 338 คดี
อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการจำแนกไว้ว่าเป็นเฉพาะมาตรา 112 ที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ซึ่งเป็นลักษณะของการแสดงออกไม่ใช่ความพยายามใช้ความรุนแรงอยู่เท่าไหร่
นอกจากนั้นยังมีปัญหาว่าจะตีความ ‘คดีการเมือง’ อย่างไรด้วย เพราะคดีมาตรา 112 บางคดีผู้ก่อเหตุอาจไม่ได้ทำไปด้วยแรงจูงใจทางการเมืองทั้ง เช่นคดีจำนวนหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุเป็นผู้มีความเจ็บป่วยทางจิตระดับที่เป็นโรค “จิตเภท” แต่ยังคงถูกจับกุมเข้ามาดำเนินคดีตามระบบ แม้ว่าสุดท้ายแล้วศาลในหลายคดีจะยกฟ้องคนเหล่านี้ แต่บางคดีศาลกลับเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ขณะก่อเหตุยังมีสติรับรู้มากพอและพิพากษาลงโทษ เช่น คดีของสมัครเหตุทุบทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ก็อาจมองได้ว่าบุคคลเหล่านี้ต่างก็ได้รับผลกระทบจากความเป็นการเมืองของตัวมาตรากฎหมายเองได้เช่นกัน และจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ระบุว่าในช่วง 2557-2562 มีผู้ป่วยจิตเภทที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ถึง 10 คน จากทั้งหมด 65 คนใน 55 คดีที่ศูนย์ทนายความฯ ให้การช่วยเหลือ
ศูนย์ทนายความฯ ยังมีสถิติคดีมาตรา 112 ในช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนในปี 2563-2567 ด้วยอย่างน้อย 276 คน ใน 308 คดี
ในจำนวน 308 คดีนี้ เป็นคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว 169 คดี โดยมีเพียง 19 คดีเท่านั้นที่ศาลยกฟ้องและเป็นคดีที่จำเลยสู้คดีในศาลทั้งหมด แต่คดีที่ศาลพิพากษาลงโทษแบ่งได้เป็น
- จำคุกโดยไม่รอลงอาญา 85 คดี
- จำเลยสู้คดี 50 คดี
- จำเลยรับสารภาพ 35 คดี
- จำคุกแต่ให้รอการลงโทษไว้ 55 คดี
- จำเลยสู้คดี 44 คดี
- จำเลยรับสารภาพ 11 คดี
- ศาลยกฟ้องมาตรา 112 แต่ลงโทษข้อหาอื่น 4 คดี
- คดีที่ศาลยกฟ้องจำเลยบางคน แต่ลงโทษจำคุกจำเลยอีกราย 3 คดี
- จำเลยสารภาพ ศาลให้รอกำหนดโทษ 4 คดี
หากกฎหมายนิรโทษกรรมคลอดออกมา โดยไม่นับรวมคดี 112 จะมีใครบ้างที่ได้ประโยชน์ ประชาไทและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยสำรวจปริมาณคดีที่เกิดขึ้นจากประเด็นทางการเมืองไว้ในแต่ละช่วง ตั้งแต่ปี 2548-2567 โดยพบว่า คดีคนเสื้อแดงนั้นส่วนใหญ่ได้รับโทษจำคุกไปจนครบโทษหมดแล้ว จะเหลือก็เพียงคดีของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคดีของแกนนำ กปปส.ที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา รวมถึงคดีของการชุมนุมระลอกล่าสุดปี 2563-2564 ที่ยังคงเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ แม้คดีจะจบไปแล้ว แต่หากกฎหมายนิรโทษกรรมกำหนดให้มีการลบประวัติอาชญากรรมด้วย ก็อาจทำให้เขาเหล่านี้หางานทำได้ง่ายขึ้น
ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)