Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศาสนาคือสินค้า

ศาสนาจะเติบโตได้ย่อมขึ้นอยู่กับการหาลูกค้า ใครนำเสนอ product ที่ตอบโจทย์คนได้มากกว่าก็ชนะไป ยิ่งเมื่อเชื่อว่าศาสนาของตนดีที่สุดและมีความปรารถนาดีด้วย ก็ยิ่งต้องอยากให้คนอื่นได้มาใช้ของดีแบบตัวเอง นี้เป็นแรงจูงใจหนึ่งในการช่วยขยายฐานลูกค้า (missionary work) ทั้งนี้ ศาสนาเป็นสินค้ามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดเมื่อยุคทุนนิยม ผู้ศรัทธาศาสนาเช่น วิสาขา อนาถปิณฑิกะ ฯลฯ ก็ใช้เงินทุ่มกับศาสนามาแต่ยุคพุทธกาล

การโปรโมทว่าสินค้าของตนดีอย่างไรเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อสินค้าหรือความเชื่อของศาสนาอื่น แม้ไม่พูดตรงๆ ว่าการบูชารูปปั้นเป็นสิ่งชั่วร้ายต้องทุบทำลายให้หมด แต่เมื่อสอนว่าเราต้องเชื่ออัลเลาะห์เท่านั้น หรือพระพุทธรูปบดบังพระพุทธเจ้า (แบบพุทธทาส) ก็เท่ากับสื่อว่า การกราบไหว้รูปเคารพหรือขอความช่วยเหลือเป็นสิ่งไม่ควรทำ ทำให้เราลืมหรือตั้งภาคีต่อพระเจ้า หรือหลงวัตถุจนลืมคำสอนเพื่อพัฒนาตัวเอง ซึ่งสื่อว่า “การบูชารูปปั้นมันผิด มันโง่ เราควรสอนให้คนที่เข้าใจผิดพวกนั้นได้กลับตัว” แม้ไม่พูดตรงๆ แต่การสอนของเขาด่าความเชื่ออื่นอยู่ตลอดเวลา

การเทศน์ครั้งแรกของพุทธะในชื่อ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เริ่มต้นด้วยการด่าพราหมณ์ ว่ากามสุขัลลิกานุโยค หรือ ลัทธิเสพสุขเป็นของต่ำทราม (หีโน) เป็นของชาวบ้าน (คัมโม) เป็นของพวกมีกิเลสหนา (โปถุชชนิโก) เป็นของไม่ประเสริฐทำลายกิเลสไม่ได้ (อนริโย) เป็นของไม่มีประโยชน์ (อนัตถสัญหิโต) แล้วเสนอว่าทางสายกลางของตัวเองทำให้คนตาสว่าง (จักขุกะระณี) รู้แจ้ง (ญาณะกะระณี) ทำให้ละกิเลสได้ (อุปะสะมายะ) เป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง (อะภิญญายะ/สัมโพธายะ) เป็นไปเพื่อนิพพาน (นิพพานายะ สังวัตตะติ) (กัลยาณมิตร, 2564)

เราอาจเข้าใจลักษณะของศาสนาได้มากขึ้นหากมองว่า ศาสนาย่อมต้องหาลูกค้า (consumer/customer) มากกว่าการใช้คำว่า ผู้ศรัทธา (believer) ซึ่งจริงๆ สองคำนี้ก็เหมือนกัน เพราะการจะเลือกเสพวัตถุ/อุดมการณ์บางอย่างได้ คนนั้นจะต้องมีความเชื่อมั่นด้วย เช่นเดียวกับที่หลายคนเชื่อว่า A จะหอมกว่าน้ำยาปรับผ้านุ่มยี่ห้ออื่น และจะเลือกซื้อ A ทุกครั้ง

ดังนั้นศาสนาจึงไม่ได้เกิดมาสร้างสันติสุขในแบบที่ทุกคนในสังคมต้องเป็นเหมือนกัน แต่ละศาสนาจะสร้างความแตกต่างสร้างข้อถกเถียง ซึ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภคเองเพราะจะเกิดการแข่งขัน และที่สำคัญคือแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ สันติสุขจะเกิดได้ก็เพราะทุกคนด่า/วิจารณ์/ทับถมกันอย่างสันติ คือแย่งลูกค้ากันไปโดยไม่เอาเปรียบกัน เช่น ไม่มีอำนาจรัฐไปปิดสำนัก (บริษัท) ของแบรนด์อื่น ถกเถียงกันว่าตนดีกว่าอย่างไรโดยไม่มีกฎหมายหมิ่นศาสนา ไม่ไปต่อยปากหรือกระโดดถีบคนที่เชื่อต่างจากตัวเอง (Buaban, 2021)

ศาลเจ้ากับรัฐศาสนาในอินโดนีเซีย

ศาลเจ้าเข้ามาพร้อมๆ กับการย้ายถิ่นของคนจีนสู่หมู่เกาะมาเลย์ Jack Meng-Tat Chia (2020, pp. 21-22) เสนอว่า ศาลเจ้าจีน เช่น Kim Tek Ie (ปัจจุบันคือ Vihara Dharma Bhakti) ถูกสร้างในจาการ์ต้าตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 และในศตวรรษที่ 18 ก็มีพระมหายานจากจีนมาจำพรรษาและทำพิธีกรรม แต่ทั้งนี้ คนจีนไม่ได้นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น ศาลเจ้าของพวกเขาเป็นการรวมกันของ 3 ความเชื่อใหญ่ๆ คือ เต๋า ขงจื๊อและพุทธศาสนามหายาน ต่อมารู้จักกันในชื่อ Tridharma และยังมีความเชื่อจีนท้องถิ่นผสมด้วย

ในแง่ของการตั้งองค์กรเพื่อรักษาความเชื่อนี้ Kwee Tek Hoay ได้ตั้งสมาคม Sam Kauw Hwee ขึ้นในปี 1934 เพื่อศึกษา/ตีพิมพ์นิตยสารให้ความรู้เรื่องศาสนาและวัฒนธรรมกับคนจีน ส่วนหนึ่งก็เพราะคนจีนเริ่มแตกออกไปตั้งองค์กรศาสนาของตนเอง เช่นบางกลุ่มพยายามจะเป็นพุทธเถรวาท บางกลุ่มเปลี่ยนไปเป็นคริสต์ ซึ่งเขาเห็นว่า คนจีนควรรักษาระบบผสมผสานแบบ “ศาลเจ้า” เอาไว้ ปัจจุบันเขาได้กลายเป็นวีรบุรุษขององค์กร Tridharma หรือศาลเจ้าที่ยังคงรักษาสามความเชื่อนั้นไว้จนปัจจุบัน

ช่วงที่ Suharto มีอำนาจ (1965-1998) หนึ่งในนโยบายที่เขาทำคือให้คนจีนลดอัตลักษณ์ตัวเองลง ศาสนาพุทธกลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนจีนใช้เมื่อศาสนาขงจื๊อถูกตัดออกจากศาสนาที่รัฐรับรอง หนังสือสวดมนต์ที่นิยมคือ Paritta ซึ่งรับมาจากประเทศเถรวาท รัฐยังบังคับให้เปลี่ยนศาลเจ้าเป็นวัด และเปลี่ยนชื่อภาษาจีนให้เป็นชื่อบาลี/สันสกฤตด้วย (Buaban, et al., 2024) เหตุการณ์นี้คล้ายกับไทย ที่คนจีนต้องลดอัตลักษณ์ตัวเองโดยการมานับถือพุทธเถรวาท ศาลเจ้าในไทยจนปัจจุบันนี้ก็ไม่ขึ้นกับกรมการศาสนา แต่จัดตั้งกันเป็นมูลนิธิบำเพ็ญประโยชน์ ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย (Kataoka, 2012)

แน่นอนว่า ตั้งแต่ปี 2000 ที่ศาสนาขงจื๊อกลับมาถูกรับรองให้เป็นศาสนาหนึ่งอีกครั้ง สภาสูงสุดของศาสนาขงจื๊อแห่งอินโดนีเซีย (Matakin) พยายามรณรงค์ให้ศาลเจ้าที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดได้กลับมาเป็นศาลเจ้าแบบเดิม แล้วมาขึ้นอยู่กับองค์กรของเขา แต่ผลลัพธ์ก็คือ หลายที่ก็ยังคงเป็นวัดพุทธต่อไป (Tanggok, 2018)

ประตูศาลเจ้า Hok An Kiong ที่สร้างในปี 2015

ศาลเจ้าที่ใช้เป็นกรณีศึกษาในบทความนี้ก็เช่นกัน ก่อนหน้านั้นชื่อ Hok An Kiong แต่ถูกตั้งชื่อใหม่ว่า Vihara Tri Ratna (วัดตรีรัตนะ) แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ ผู้คนก็ยังจะเรียกชื่อเดิมของศาลเจ้าอยู่ และชื่ออย่างเป็นทางการก็กลับมาใช้ได้อีกครั้งเมื่อ Suharto ลงจากตำแหน่ง ศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ Muntilan เมือง Magelang ชวากลาง ศาลเจ้าก่อตั้งในปี 1871 นอกจากเทพเจ้าจีนแล้ว ยังมีรูปปั้นของศาสดาทั้งสามศาสนา คือขงจื๊อ ศักยมุนีและเล่าจื๊อ (Semiyono, 2024)


รูปปั้นศาสดาของสามศาสนาเป็นสัญลักษณ์ของ Tridharma

ลุงที่เป็นกรรมการมูลนิธิกล่าวว่า ในช่วงปี 1970 รัฐบาลท้องถิ่นลงมาตรวจศาลเจ้าแล้วบอกให้เอาไม้ต่างๆ ที่มีอักษรจีนลง แต่คนที่ศาลเจ้าไม่ยอมทำตามโดยพูดว่า “หากท่านเห็นว่าต้องเอาลง ก็ดึงลงเองเถอะ พวกเราทำไม่ได้” สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าทำ อาจเพราะกลัวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะทำให้ต้องเจ็บป่วย หรือเพราะเกรงใจชาวบ้านที่นั่นกลัวจะเกิดความเกลียดชังหรือการประท้วงขึ้น

ผมได้ไปเที่ยวชมที่นี่ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2024 ซึ่งเป็นวันที่นักเรียนมัธยมปลายของ รร.คาทอลิคใน Muntilan มาเยี่ยมชมวัด โรงเรียนของอินโดนีเซียจะมีโครงการทัศนศึกษาไปตามศาสนสถานต่างๆ เพื่อเรียนรู้ประวัติและคำสอนคร่าวๆ ของศาสนานั้นๆ คนบรรยายก็มักจะพูดเรื่องความเหมือนกันของศาสนาเพื่อให้คนต่างศาสนาได้เข้าใจ/รักกัน เขาถือเป็นวิธีหนึ่งที่จะป้องกันความเกลียดชังหรือความรุนแรงทางศาสนาได้ ซึ่งห้องที่ใช้บรรยายเคยเป็นโรงเรียนมาก่อนแต่ยุติไปแล้ว ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดงานประจำปี เช่น วิสาขบูชาเป็นต้น และก่อนหน้านั้นศาลเจ้าแห่งนี้ยังเปิดโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาจีน แต่ถูกปิดลงช่วง Suharto




อดีตของศาลเจ้าที่เคยเปิดโรงเรียนสอนด้วยภาษาจีน 

ความสัมพันธ์กับองค์กรศาสนาอื่นๆ

ความย้อนแย้งของศาลเจ้าแห่งนี้คือ แทนที่จะมีความสัมพันธ์วัดวัดมหายาน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในศาสนาของจีน แต่กลับใกล้ชิดกับพระฝ่ายเถรวาทอินโดนีเซีย (STI) ส่วนหนึ่งก็เพราะ Muntilan อยู่ใกล้กับวัด Mendut ซึ่งถือเป็นศูนย์ใหญ่ของพระเถรวาทอินโดฯ ในชวากลาง สมาชิกของศาลเจ้าที่นี่ก็คือคนจีนซึ่งเป็นสมาชิกของวัดเถรวาทแห่งนั้นเช่นกัน ความสัมพันธ์นั้นทำให้พวกเขานิมนต์พระเถรวาทมาจัดงานวิสาขะที่ศาลเจ้าได้ ซึ่งหมายความว่า ผู้คนจำนวนมากก็จะมาร่วมงานและศาลเจ้าก็ได้รับเงินบริจาคมากมายไปด้วย

ทำนองเดียวกัน พระเถรวาทก็ใช้โอกาสในการใช้ศาลเจ้าแห่งนี้เพื่อสอนให้คนรู้จักพุทธศาสนา (ที่ถูกต้องแบบที่เขาตีความ) โดยมีการอบรมธรรมะ (Dhamma Class) ขึ้นในทุกปี มีการบรรยายธรรมโดยพระผู้ใหญ่ เช่น Sri Panyavaro จำนวน 4 ครั้ง ในเวลา 2 เดือนช่วงเมษายนและพฤษภาคม มีผู้เข้าร่วมราว 50 คน ความน่าสนใจคือ ศาลเจ้าเป็นมูลนิธิของพวกเขาเอง แค่นิมนต์พระมาบางครั้งเท่านั้น อำนาจในการบริหารจึงเป็นของฆราวาสทั้งหมด และนี่อาจเป็นเหตุผลที่พวกเขาเลือกจะมีความสัมพันธ์กับพระเถรวาท เพราะพระไม่เข้ามายุ่งเรื่องพิธีกรรมแบบจีนของเขา ดังจะอธิบายในข้อถัดไป


พระเถรวาทอินโดนีเซียและผู้บริหารศาลเจ้าแต่ละยุค (ฝาผนังในสำนักงาน)

นอกจากสร้างความสัมพันธ์กับชาวพุทธแล้ว ความสัมพันธ์กับมุสลิมในฐานะคนส่วนใหญ่ก็สำคัญ สมาชิกของศาลเจ้าบางคนยังจัดพิธี Genduri หรือ Kesalamatan บ่อยครั้งเพื่อทำบุญเปิดทางให้กิจการหรืองานที่จะทำสำเร็จ เช่นจะแต่งงานก็จัดพิธีนี้ก่อน ซึ่งเป็นพิธีดั้งเดิมตามความเชื่อชวา (Geertz, 1976) พวกเขามักเชิญผู้นำศาสนาหรือผู้สูงอายุมุสลิมมาร่วมงาน ภาษาที่ใช้ในพิธีกรรมคือชวา และบทสวดเป็นภาษาอาหรับซึ่งคัดเอาจากบางบทของคัมภีร์กุรอาน (ในบางที่หากเป็นชุมชนพุทธก็จะใช้บาลี เช่น ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง)

ศาลเจ้ายังมีรูปของ Gus Dur หรือ Abdurrahman Wahid ประธานาธิบดีคนที่ 4 วางอยู่ในห้องหนึ่งใกล้กับห้องบูชาบรรพบุรุษด้วย Gus Dur เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ที่ยกเลิกระเบียบที่กดขี่อัตลักษณ์จีนและทำให้ประเพณี/พิธีกรรมของพวกเขากลับมาสู่ที่สาธารณะได้อีกครั้ง (Tanasaldy, 2022) ศาลเจ้าแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรมุสลิม NU (Nahdlatul Ulama) ซึ่งเป็นองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในอินโดฯ มานาน ในต้นปี 2024 รองสภาสาขา NU Muntilan อยากจัดพิธีครบรอบวันก่อตั้ง NU ปีที่ 96 ขึ้นที่นี่ด้วย เลยส่งมอบรูปถ่ายของ Gus Dur มาให้ และในพิธีมีผู้คนร่วมประมาณ 300-400 คน (Susanto, 2024)


อดีตประธานาธิบดี Gus Dur ในห้องหนึ่งของศาลเจ้า

การโปรโมทสินค้าของศาลเจ้า

สิ่งที่ศาลเจ้านี้นำเสนอว่าดีกว่าที่อื่นๆ  มี 3 อย่างคือ (1) มีกระถางธูปสำหรับบูชา Tian ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน (2) มีเทพเจ้าเต๋าผู้พิทักษ์โลก/มนุษย์ครบสมบูรณ์ที่สุด และ (3) มีการจัดพิธี Ci Swak (tolak bala) หรือสะเดาะเคราะห์ตามแบบของเต๋าซึ่งถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด

(1) กระถางธูปนำเข้าจากจีนในปี 2002 ได้กลายเป็นจุดขายการท่องเที่ยวของเมือง มีการลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นโปรโมทความใหญ่ของกระถางธูปและชักชวนผู้คนให้มาชม กระถางธูปมีน้ำหนักราว 4 ตัน เส้นผ่านศูนย์กลาง 178 ซม. และสูง 158 ซม. ทำจากทองสัมฤทธิ์หุ้มด้วยทองเหลือง ลุงเล่าว่า “สิ่งนี้จำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่จุดธูปเพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับผู้สร้างสูงสุด (Tian) ดังนั้นเราจึงต้องทำให้ดีที่สุด”


กระถางธูปศาลเจ้า Hok An Kiong

2. ห้องบูชาเทพเจ้าเต๋าผู้พิทักษ์โลก/มนุษย์ พร้อมทั้งติดแผ่นป้ายเพื่อให้คำนวณว่าเราเกิดปีไหน ธาตุอะไร ปัจจุบันคือปีอะไรและเทพเจ้าองค์ใดที่ปกปักรักษาเรา ก็จะได้กราบไหว้ให้ตรงกับองค์นั้นๆ นั่นคือหากเราไปไหว้ที่ศาลเจ้าอื่นก็จะไหว้แบบเหมารวม ซึ่งลุงนำเสนออย่างภาคภูมิใจว่า คนที่มาที่นี่เขาไหว้เทพที่ตรงกับปีเกิดของเขาจริงๆ หมายความว่าอานุภาพที่จะส่งผลต่อสุขภาพหรือความสำเร็จที่เราปรารถนาก็มีมากกว่า


ห้องบูชาเทพเจ้าเต๋าตามปีเกิด

3. การจัดพิธี Ciswak หรือ acara tolak bala ที่สมบูรณ์ที่สุด เขาเชิญ Pandita Utama มาจากสิงคโปร์เป็นผู้นำพิธีสะเดาะเคราะห์นี้ ลุงยืนยันว่า ตามหลักพิธีเต๋า ผู้นำต้องผ่านการเรียนและฝึกฝนด้านพิธีกรรมจนได้ใบประกาศนียบัตร ซึ่งในอินโดไม่มีคนที่มีคุณสมบัตินั้น หากอยากได้ต้องไปเรียนที่สมาคมเต๋าที่สิงคโปร์ ไต้หวัน หรือฮ่องกง ลุงกล่าวอีกว่า “คนส่วนใหญ่ที่ทำพิธีนั้นในอินโดฯ เอาผ้ามาคลุมเพื่อเป็นเจ้าพิธีแบบไม่มีความชอบธรรม ตำแหน่งผู้นำพิธีกรรมสำคัญมาก เพราะต้องเป็นตัวแทนสื่อสารกับสวรรค์ ถ้าคนทั่วไปทำพิธีก็ไม่สำเร็จ”

แม้ลุงไม่ได้โจมตีพิธีกรรมของคนอื่นโดยตรง แต่ดังที่ผมเสนอไปแล้วว่า การโปรโมทสินค้าของเราย่อมกระทบต่อสินค้าคนอื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ลุงกล่าวเสริมว่า บางที่นิมนต์พระมหายานมาสวด ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะต้นฉบับของพิธีนี้เป็นของเต๋า ต้องใช้ผู้นำพิธีจากเต๋าจึงจะสำเร็จ


บอร์ดรูปการจัดพิธี Ci Swak ปี 2011

ผมเคยร่วมพิธีนี้ที่วัด Buddha Prabha หรือที่รู้จักกันในชื่อศาลเจ้า Fuk Ling Miau เมือง Yogyakarta ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2022 โดยทางศาลเจ้าได้นิมนต์พระเถรวาทขององค์กรพุทธยานมาสวด แน่นอนว่าพระจากองค์กรนี้สามารถสวดได้ทั้งปริตรบาลี เลียมเก็งภาษาจีน และมันตระภาษาสันสกฤต เพราะเป็นองค์กรที่รวมพระทั้งสามนิกายให้อยู่ในวัดเดียวกัน (Kimura, 2003)

หลวงพ่อ โพธิ (Sasana Bodhi) จาก Boyolali เป็นคนนำสวดพร้อมกับพระเณรอีก 4 รูป หนังสือที่ใช้เป็นบทสวดของมหายาน พิธีเริ่มตั้งแต่ 08.00–11.00 น. และช่วงบ่ายคือ 13.00–14.00 น. โดยในช่วงสุดท้ายจะมีการรดศีรษะหรือบ้างก็อาบน้ำเลยแก่ผู้เข้าร่วมราว 20 คน

พิธีสะเดาะเคราะห์ที่ศาลเจ้า Fuk Ling Miau โดยพระเถรวาท

สันนิษฐานได้ว่า การที่ศาลเจ้า Hok An Kiong ยังคงเลือกรักษาความสัมพันธ์กับพระสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย (STI) แทนคณะสงฆ์อื่น ไม่ใช่เหตุผลเพราะอยู่เมืองเดียวกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะศาลเจ้าไม่ต้องการให้พระมายุ่งในการจัดพิธีกรรม พวกเขาพยายามโปรโมทพิธีเต๋า ซึ่งเชื่อว่าจริงแท้/ดั้งเดิมที่สุด พระเถรวาท (STI) ไม่มีความรู้เรื่องพิธีกรรมแบบจีน ขณะที่พระของพุทธยานแม้จะนุ่งห่มแบบเถรวาท ก็สามารถสวดมนต์และประกอบพิธีกรรมแบบมหายานได้

สรุป

ศาลเจ้า Hok An Kiong เมือง Magelang เป็นตัวอย่างหนึ่งของศาสนสถานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐในการควบคุมศาสนา/อัตลักษณ์คนจีน ทั้งนี้การดำรงอยู่ของศาลเจ้าต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ตั้งแต่องค์กรมุสลิม NU และชาวมุสลิมรอบข้าง ทั้งยังเชื่อมสัมพันธ์กับพระเถรวาทอินโดฯ (STI) โดยเป็นความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน ที่สำคัญคือศาลเจ้าได้สร้างวัตถุและพิธีกรรมมาเป็นจุดขายทั้งในแง่การท่องเที่ยวและการอ้างความจริงแท้สมบูรณ์ ซึ่งเป็นธรรมดาว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดิสเครดิตขององค์กรอื่นๆ (แม้ไม่เอ่ยนาม) นั่นเพราะการเผยแผ่ศาสนาเป็นเช่นเดียวกับการแข่งขันขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคนั่นเอง

 

อ้างอิง

กัลยาณมิตร. (2564). ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเเปล (เพื่อการนำไปปฏิบัติ). เข้าถึงจาก 

Buaban, J. (2021). Buddhist perspectives on pluralism and public sphere. International Review of Humanities Studies, 6(2): 884-891. Accessed from

Chia, J. M. T. (2020). Monks in motion: Buddhism and modernity across the South China Sea. Oxford University Press, USA.

Geertz, C. (1976). The religion of Java. University of Chicago Press.

Kataoka, T. (2012). Religion as Non-religion: The Place of Chinese Temples in Phuket, Southern Thailand. Southeast Asian Studies, 1(3), 461-485. Accessed from

Kimura, B. (2003). Present Situation of Indonesian Buddhism: In Memory of Bhikkhu Ashin Jinarakkhita Mahasthavira. Nagoya Studies in Indian Culture and Buddhism: Sambhasa, 23, 53-72. Accessed from

Buaban, J., Makin, A., & Sutrisno, E. L. (2024). Theravadization of Buddhayana under the discourse of modern Buddhism and Indonesian politics. Simulacra, 7(1), 97-111. Accessed from 

Semiyono. (2024). Klenteng Hok An Kiong, Salah Satu Bangunan Legendaris di Muntilan. Accessed from

Susanto, E. (2024). Mengunjungi Kelenteng Hok An Kiong di Muntilan, Ada Altar dengan Foto Gus Dur. Accessed from

Tanasaldy, T. (2022). From Official to Grassroots Racism: Transformation of Anti‐Chinese Sentiment in Indonesia. The Political Quarterly, 93(3), 460-468. Accessed from 

Tanggok, M. (2018). Buddhist and Confucian Relations in Indonesia: Conflict over the Ownership, Name and Function of Chinese Temples (Kelenteng). In Proceedings of the 1st International Conference on Recent Innovations.pp 1683-1690. Accessed from

ภาพประกอบแรกจาก 










 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่