เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการจัดการประกวดรอบไฟนอล สำหรับจุฬาคฑากร และ CU Cheerleader นับเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ที่นิสิตจุฬาฯ ไม่ได้เห็นการประกวดองค์กรในรูปแบบนี้ คำกล่าวอ้างของ ร.ศ. ดร. สุกัญญา สมไพบูลย์ รองอธิการบดี ด้านกิจการนิสิต กล่าวว่า การกลับมาของผู้นำเชียร์ จุฬา จะมาเติมเต็มให้งานฟุตบอลประเพณีให้มีสีสัน จุฬาคฑากรและผู้นำเชียร์จุฬาฯ นั้น ได้รับเงินสนับสนุนจากสมาคมนิสิตเก่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลัก จึงสรุปได้ว่า การมีอยู่ของจุฬาคฑากรณ์ และ CU Cheerleader นั้นเกิดขึ้นมาได้จากความต้องการของผู้บริหารและการช่วยเหลือของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อ CU Ambassador ที่สำนักงานบริหารกิจการนิสิตเป็นผู้ดูแลว่าเป็นการสนับสนุน Beauty Privillege แต่หลังจากการประกวดของทั้งสององค์กรเสร็จสิ้นลงแล้ว ผู้เขียนจึงได้ข้อสรุปว่า ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สนจ. เป็นเพียงคนมีอายุที่ช่างล้าหลัง ติดกับดักอยู่กับวัฒนธรรมแบบศักดินา และไม่รู้จักพัฒนาองค์กรให้เข้าสู่ค่านิยมความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
แม้ CU Cheerleader จะประชาสัมพันธ์ว่าให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพและความเป็นตัวของตัวเอง ทว่าผู้เข้ารอบ Semi final ล้วนมีคำวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีหน้าตาที่เป็น “บล็อก” เดียวกัน หรือมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่แตกแถวไปจากบิวตี้สแตนดาร์ดอย่างน่าตกใจ ช่างน่าขันเพราะหากองค์กรพยายามกล่าวอ้างว่าตนเองไม่สนับสนุนบิวตี้พริวิเลจ แต่ก็คงไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำนัก เพราะผู้สนับสนุนรายใหญ่ของกิจกรรมนี้ดันเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เช่นนั้นแล้ว ผู้นำเชียร์จุฬาฯ หรือ CU Cheerleader ก็หนีไม่พ้นคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าเชิดชูบิวตี้สแตนดาร์ดไปได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นผู้เขียนยังได้ยินเรื่องราวจากหนึ่งในผู้ที่เข้าไปคัดผู้นำเชียร์คนหนึ่ง เขาเล่าว่าในการคัดเลือกรอบสัมภาษณ์ เขาได้ถูกเรียกเข้าไปในห้องที่มีคณะกรรมการกว่า 20 คน เป็นทั้งบุคลากรทรงคุณวุฒิและรุ่นพี่นิสิตเก่าที่เคยเป็นผู้นำเชียร์จุฬาฯ จำนวนมาก และมีการถามคำถามอย่างเช่นว่า “หากมีคนกล่าวว่าผู้นำเชียร์จุฬาเป็นองค์กรที่สนับสนุนบิวตี้พริวิเลจ จะตอบกลับเขาว่าอย่างไร” จากสถานการณ์ข้างตน แสดงให้เห็นว่าทางองค์กรก็รับรู้ว่าตนเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบิวตี้พริวิเลจมาตลอด แต่ก็มิวายระลึกได้เองว่า ก็เป็นสิ่งนี้เองไม่ใช่หรือที่เป็นรากฐานสำคัญขององค์กรของคุณ เหตุใดจึงยังพยายามนำตัวเองกลับเข้ามา ทั้งที่นิสิตไม่กี่รุ่นก่อนหน้าได้ตัดสินใจแล้วว่า เพราะรากฐานขององค์กรคือการเชิดชูบิวตี้พริวิเลจ และด้วยเหตุผลในตัวมันเองนี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะยกเลิกการประกวดเช่นนี้ไปเสีย นี่ดูจะเป็นการ “เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” มากกว่าถ่ายรูปโฟโต้ชูทด้วยใบหน้ามั่นใจเต็มร้อย แต่ไม่แม้จะระบุว่าปัญหาสังคมที่ท่านกำลังสื่อคืออะไรกันแน่ ในทางกลับกัน เหล่าผู้ใหญ่ผู้ไม่ยอมมองไปข้างหน้ากลับและได้พยายามคัดเลือกคนที่พอจะมีชุดคำอธิบายเพื่อรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์นี้เสียเท่านั้นเอง เราควรคิดต่อไปอีกว่าการถามคำถามดังกล่าวโดยคณะกรรมการที่เป็นผู้นำเชียร์มาก่อน ส่อถึงการมีโซตัสภายในองค์กรหรือไม่? สิ่งนี้คงเป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่ต้องลองคิดทบทวน นำคำบอกเล่าประสบการณ์ที่เคยได้ยินมาเป็นเหตุผลสนับสนุนกันต่อไป
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าขัน คือคำถามที่ใช้ถามในการประกวดรอบ Final ของ CU Cheerleader ซึ่งเป็นคำถามที่มีลักษณะขบขันมากกว่าจะวัดสติปัญญาหรือความรู้ความสามารถ เช่นคำถาม “ข้าว ขนมปัง เส้น เลือกอะไร” แม้ว่าจะเป็นคำถามที่วัดไหวพริบ แต่ก็ไม่ใช่ไหวพริบที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านสังคม และสถานการณ์โลกมากนัก คำถามพวกนี้ ดันทำให้งานดูตลกและค่อนข้างจะไร้แก่นสารเสียมากกว่า ยังมีคำถามอีกจำนวนมากที่ยกประเด็นสังคมมาพูดถึง แต่ก็เปลี่ยนประเด็นของคำถามให้กลายเป็นคำถามที่ไร้ความเป็นเหตุเป็นผลต่อกันเช่นคำถามว่า “ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะมากกว่า 60% หรือคิดเป็นมากกว่า 12% ของจีดีพี คิดว่าอาหารเมนูไหนที่เหมาะสมที่จะรับประทานในช่วงนี้” คำถามที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น ไม่สามารถวัดความสามารถทางความรู้ หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ยกยอตนเองว่าเป็นอันดับ 1 ได้แต่อย่างใด
ดังนั้น สำหรับผู้เขียน โจทย์ใหญ่ของ CUCL หรือ CU Cheerleader คือการที่ต้องพยายามแสดงให้เห็นว่า องค์กรของตนนั้นไม่สนับสนุนบิวตี้สแตนดาร์ดและยึดความสามารถและความรู้เป็นหลัก แต่เราคงได้เห็น จากการประกวดรอบ Final ที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นว่าทางองค์กรได้“ขุดหลุมฝังตัวเอง” ไปอย่างไม่เหลือชิ้นดี มากกว่าจะกอบกู้ชื่อเสียงให้กลับมา
สุดท้ายนี้บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการโจมตีตัวบุคคลผู้เคยเป็นหรืออยากจะเป็นเชียร์หลีดเดอร์หรือคฑากรแต่เป็นการชวนให้เราทุกคนตั้งคำถามถึงวัตถุประสงค์ของการมีอยู่ขององค์กรเหล่านี้ และประโยชน์หรือคุณค่าที่นิสิตจุฬาฯ ทั้งหลายจะได้รับจากการประกวดในครั้งนี้ แม้ว่าจุฬาฯ จะยกยอตนเองเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ แต่ผู้เขียนมองว่าการสนับสนุนการมีอยู่ขององค์กรพวกนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าจุฬาฯ ยังคงล้าหลังอยู่มาก แม้ว่าจะสายธารความคิดทางสังคมจะพัฒนาไปไกล แต่สุดท้ายก็มีเพียงคนจำนวนหยิบมือที่ดึงมันให้ถอยหลังกลับมาที่เดิม ที่ที่พวกเขาต้องการ อย่างที่ได้กล่าวไป การประกวด CU Cheerleader และ Chulakatakorn คงเรียกได้ว่า เป็นเกมของ “เหล่าผู้ใหญ่” ที่อดรนทนไม่ได้ที่จะเห็นนิสิตมีปากมีเสียงเป็นของตัวเอง จึงได้กระทำการครั้งนี้อย่างไม่มีเล่ห์กล หรือชั้นเชิงใดๆในการทำให้องค์กรไม่ต้องถูกตราหน้าว่าเชิดชู Beauty Privilalge ได้ มากไปกว่านั้น การมีอยู่ของ CU Cheerleader และ Chulakatakorn ยังเป็นเครื่องยืนยันในความล้มเหลวขององค์การบริหารกิจการนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ชุดนี้อีกด้วย แม้ว่าจะมีนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมและมุ่งเปิดรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันสิทธิ ความชอบธรรมขององค์กรนิสิตที่ได้รับการเลือกตั้ง เพื่อไปคัดค้าน ทัดทาน การนำองค์กรเหล่านี้กลับมาของเหล่าผู้ใหญ่ได้ มิวายยังสนับสนุนให้องค์กรเหล่านี้มีปากมีเสียงมากขึ้นไปอีก
ไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ตัวนายก อบจ. ก็ลาออกก่อนที่จะมีการแก้ปัญหา ทำให้ไม่มีใครมาคัดค้านการเกิดขึ้นขององค์กรเหล่านี้ ในฐานะนิสิต เราควรส่งเสียงและตั้งคำถามต่อเหล่าผู้ใหญ่ และคณะผู้บริหารที่พยายามฟื้นคืนชีพองค์กรเหล่านี้ขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ท่านจะให้สถานศึกษาของเรา ยกความงามให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและน่าเชิดชูกว่าความรู้ได้อย่างไรกัน ?
ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)