ร่างพระราชบัญญัติสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. .... ของกระทรวงมหาดไทยที่กำลังกลายเป็นวาระสำคัญเรื่องหนึ่งของภาคประชาชนอยู่ในขณะนี้ ได้ให้เหตุผลในการร่างกฎหมายว่าเพื่อป้องกันการฟอกเงิน โดยที่รองปลัดกระทรวงมหาดไทยก็พูดออกมาอย่างชัดเจนในคราวประชุมของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 428 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา ว่า “ร่างกฎหมายนี้เขียนขึ้นมาเพื่อกำกับควบคุมสมาคมและมูลนิธิว่ารับเงินต่างชาติมาเพื่อบ่อนทำลายประเทศหรือเปล่า (สื่อไปในทำนองว่าการชุมนุมของประชาชนในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา มีการรับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวบ่อนทำลายประเทศ - ผู้เขียน) ซึ่งเราเห็นว่าเป็นการฟอกเงิน มีการกระทำไม่สุจริต เข้าข่ายอั้งยี่ซ่องโจร”
นั่นทำให้สงสัยว่า ทำไมถึงไม่เอากรณีที่กล่าวอ้างนี้ไปอยู่ในกฎหมายฟอกเงินโดยตรง ? ซึ่งประเทศเราก็มีกฎหมายเกี่ยวกับความผิดในการฟอกเงินโดยตรง ก็คือพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
เมื่ออ่านรายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับนี้ก็จะหายสงสัยทันที เนื่องจากว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่การฟอกเงินจริง ๆ แต่มุ่งเน้นสอดส่องพฤติกรรมเพื่อจับผิดและลงโทษสมาคมและมูลนิธิว่าใช้สิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบและตั้งคำถามต่อรัฐอย่างไรบ้างมากกว่า
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ร่างกฎหมายฉบับนี้พยายามขยายความผิดมูลฐานเรื่องการฟอกเงินให้มากขึ้นกว่าที่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
แต่ความผิดมูลฐานเรื่องการฟอกเงินที่ถูกขยายขึ้นในร่างกฎหมายฉบับนี้ดูแล้วไม่สมเหตุสมผล เพราะไม่มีข้อกำหนดและความผิดมูลฐานใดเลยที่เข้าข่ายการฟอกเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดให้สมาคมและมูลนิธิที่รับเงินทุน/เงินบริจาคจากต่างประเทศเกินจำนวนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ต้องรายงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับเงินทุน/เงินบริจาค รวมถึงเรื่องคุณสมบัติของกรรมการสมาคมหรือมูลนิธิจะต้องไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือไม่เหมาะสมที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของสมาคมและมูลนิธิ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นปรปักษ์กับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นข้อกำหนดและความผิดมูลฐานที่เกินเลยไปกว่าการป้องกันการฟอกเงินทั้งสิ้น
และเมื่อดูความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฟอกเงินที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ถ้ายกเว้นเรื่องของการกำหนดเพดานเงินทุน/เงินรับบริจาคจากต่างประเทศเกินจำนวนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ที่บังคับให้ต้องรายงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับเงินทุน/เงินบริจาคแล้ว (ซึ่งสามารถระบุไว้ให้ต้องชี้แจงตามกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับใหม่เพื่อการนี้แต่อย่างใดอีก) ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเรื่องคุณสมบัติของกรรมการสมาคมหรือมูลนิธิจะต้องไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือไม่เหมาะสมที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของสมาคมและมูลนิธิ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นปรปักษ์กับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่สามารถจับยัดลงไปในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้ เพราะมันเป็นภารกิจในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งได้ร่วมลงนามด้วย
แท้จริงแล้วสิ่งที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการ ก็คือ พยายามทำให้เรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกลายเป็นความผิดมูลฐานเรื่องการฟอกเงินให้ได้ ตัวอย่างเช่น สมาคมและมูลนิธิต่าง ๆ ดำเนินงานโดยสุจริตและปฏิบัติงานด้วยดีตามบทบัญญัติทุกประการของกฎหมายฟอกเงิน และกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พุทธศักราช 2556 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พุทธศักราช 2559 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พุทธศักราช 2551 (และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พุทธศักราช 2551 พุทธศักราช 2562) เป็นต้น แต่สมาคมและมูลนิธิต่าง ๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อต้านโครงการพัฒนา นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในบ้านเมืองพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ก็ถือว่ามีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือไม่เหมาะสมหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่เจริญเติบโต หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นปรปักษ์กับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ก็จะถูกลงโทษได้
โดยบทลงโทษนั้นมีเป้าหมายอย่างน้อยสามประการเพื่อจะถอนรากถอนโคนสมาคมและมูลนิธิที่มีการกระทำเข้าข่ายตามที่กล่าวไปให้สิ้นซาก คือ หนึ่ง-ยุบสมาคมและมูลนิธิเพื่อไม่ให้มีองค์กรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นแหล่งรับเงินทุน/เงินบริจาคจากต่างประเทศเพื่อภารกิจสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป สอง-ลงโทษทั้งแพ่งและอาญาต่อกรรมการสมาคมและมูลนิธิเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นกรรมการหรือเข้าไปเกี่ยวข้องในการก่อตั้งสมาคมและมูลนิธิแห่งใหม่ขึ้นมาได้ และสาม-ตัดเส้นทางการเงินที่ได้รับเงินทุน/เงินบริจาคจากต่างประเทศเพื่อภารกิจสิทธิมนุษยชนให้เด็ดขาด
มิหนำซ้ำยังมีข้ออ้างเลื่อนลอยเพื่อกลบเกลื่อนและเบี่ยงเบนว่าไม่ได้ร่างกฎหมายขึ้นมาสกัด ขัดขวาง ควบคุม กำกับและทำลายสมาคมและมูลนิธิที่รับเงินทุน/เงินบริจาคจากต่างประเทศเพื่อกระทำภารกิจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่ร่างขึ้นมาเพื่อต้องการสกัดเส้นทางการเงินของกลุ่มทุนจีนสีเทาที่เป็นปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งข้อเท็จจริงก็มีอยู่เต็มไปหมดว่าพวกกลุ่มทุนจีนสีเทานั้นร่วมมือกับตัวแทนอำพรางที่เป็นคนไทยจดทะเบียนเป็นบริษัทเกือบทั้งสิ้น ดังเช่นที่จังหวัดมุกดาหารกลุ่มทุนจีนสีเทาได้ร่วมมือกับอดีตนักการเมืองที่เคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกลายเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใหม่ในจังหวัด ไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นมาไม่ต่ำกว่าสามบริษัทเพื่อขอสัมปทานพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลงที่สอง ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงบังอี่ แปลงที่หนึ่ง ต.นาโสก อำเภอและจังหวัดเดียวกัน เพื่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลม เป็นต้น มีน้อยมากที่จดทะเบียนเป็นสมาคมและมูลนิธิ ถ้าอยากจะเอาจริงเอาจังในการควบคุมกลุ่มทุนจีนสีเทาก็ต้องไปเขียนกฎหมายเพื่อไปกำกับและควบคุมบริษัทรูปแบบต่าง ๆ จะตรงประเด็นมากกว่า
จึงวิเคราะห์เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยว่า ร่างพระราชบัญญัติสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. .... เป็นขบวนการและกระบวนการต่อเนื่องมาจากร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... ในสมัยของรัฐบาลประยุทธ์ที่เป็นรัฐบาลสืบต่อจากเผด็จการรัฐประหาร คสช. ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ เพราะขบวนประชาชนหลากหลายองค์กรได้ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อต้าน โดยเริ่มต้นของร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... ก็พยายามควบคุมสมาคมและมูลนิธิที่ใช้สถานะความเป็นนิติบุคคลไปรับเงินทุน/เงินบริจาคจากต่างประเทศเพื่อกระทำภารกิจเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยภายในสังคมไทย โดยหวังว่าหากตัดเส้นทางการเงินและมีบทลงโทษต่อสมาคมและมูลนิธิเหล่านั้น ก็จะทำให้ขบวนการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของภาคประชาชนอ่อนแอลงได้ ซึ่งในช่วงเวลานั้น (ปี 2563 เรื่อยมา) มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนอย่างเข้มข้นบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ขับไล่ประยุทธ์ แต่เอาไปเอามาร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... ได้ตีขลุมหว่านแหไปอย่างกว้างขวางและมั่วไปหมด เพราะไม่ได้ต้องการเพียงควบคุมและกำกับสมาคมและมูลนิธิที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น แต่ต้องการควบคุมกลุ่ม องค์กร ขบวนประชาชนที่ไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลทั้งหมดด้วย จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านจากภาคประชาชนไปอย่างกว้างขวาง ไม่ได้มีแต่สมาคมและมูลนิธิที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลออกมาคัดค้านเพียงแค่นั้น
ร่างพระราชบัญญัติสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. .... จึงย้อนเวลาสังคมไทยกลับไปที่เดิม เพื่อไปแก้ไขข้อผิดพลาดของร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... โดยพุ่งเป้าให้ตรงมากขึ้นเพื่อให้มีบทบัญญัติที่จำกัดเฉพาะการควบคุมและกำกับสมาคมและมูลนิธิที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น.
ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)