Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากเหตุการณ์อุทกภัยหรือน้ำท่วมในภาคใต้ที่ผ่านมา จะพบว่าสินค้าและบริการหลายชนิดถูกปรับขึ้นราคา ดังเช่นกรณีในจังหวัดปัตตานีผักบุ้งจากเดิมราคากำละ 10 บาท ถูกปรับขึ้นราคามาเป็นกำละ 100 บาท หรือประมาณ 10 เท่าของราคาเดิม ในกรณีเช่นนี้ถ้าจะมองหรือวิเคราะห์ภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ‘ทฤษฎีดุลยภาพทั่วไป’ (General Equilibrium Theory) ตามกฎอุปสงค์อุปทานก็คงไม่แปลกนัก เพราะเมื่ออุปสงค์ผักบุ้ง(ความต้องการซื้อผักบุ้ง)เพิ่มมากขึ้นแต่อุปทานผักบุ้ง(จำนวนผักบุ้งที่มีขายในตลาด)กลับมีเท่าเดิม ก็จะส่งผลให้ราคาผักบุ้งเพิ่มสูงขึ้น การตอบสนองในรูปแบบนี้ส่วนหนึ่งมาจากพลังของสมมุติฐานที่ว่าพฤติกรรมของมนุษย์ใกล้เคียงกับการพยายามบรรลุประโยชน์ส่วนตนสูงสุด อย่างน้อยก็ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (เซน, 2562)

สอดคล้องดังคำกล่าวของ Smith (1776) ที่ว่า “วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นการเชื่อมโยงเป้าประสงค์ของมนุษย์กับการแสวงหาความมั่งคั่งโดยตรง(การทำกำไรสูงสุด) เป็นการกำกับว่าเราควรทำและไม่ควรทำอะไรภายใต้แรงจูงใจที่มีเหตุและผล” การกระทำเช่นนี้เปรียบเสมือนลักษณะ ‘ไร้จริยศาสตร์’ ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กล่าวได้ว่าการเชื่อมโยงกันระหว่างเศรษฐศาสตร์และจริยศาสตร์เข้าด้วยกันดูเป็นไปไม่ได้เลย ทำได้แต่เพียงวางเทียบกันเท่านั้น (Robbins, 1935) นั่นเท่ากับว่า ข้อเสนอเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะมีเพียงประการเดียวเท่านั้นคือ ข้อเสนอที่ว่า ผู้คนประพฤติตนในทางที่จำเป็นต่อการบรรลุประโยชน์ส่วนตนสูงสุด  (เซน, 2562)

จากเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามที่สำคัญตามมาคือ เป็นการสมควรหรือไม่ที่พ่อค้าหรือแม่ค้าในพื้นที่ยังคง ‘เลือก’ ใช้กรอบแนวคิดข้างต้นในการโก่งราคาสินค้าและบริการเพื่อ ‘สร้างกำไรสูงสุด’ ภายใต้สถานการณ์ที่ประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ?

อย่างไรก็ตาม Aristotle และ Sen (1987) กลับมีความเห็นที่ต่างออกไปว่า “เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งดีงามสำหรับมนุษย์ วิชาเศรษฐศาสตร์จะต้องเชื่อมโยงกับวิชาอื่น ๆ ในระดับที่ลึกกว่านั้นมากกว่าการแสวงหาความมั่งคั่ง เพราะมนุษย์จะใช้ประโยชน์ของความมั่งคั่ง(หรือการทำเงิน)ในการแสวงซึ่งสิ่งอื่นเท่านั้น” Sen (1987)  ได้เสนอแนวคิด ‘มุมมองเรื่องแรงจูงใจที่เกี่ยวข้องกับจริยศาสตร์’ (Ethics-related View of Motivation) เป็นการสร้างแรงจูงใจและข้อตระหนักที่เชื่อมโยงกับจริยธรรม อันจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมที่แท้จริงของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและบรรลุเป้าหมายสูงสุดของการมีชีวิตที่ดี

จากสมมุติฐานอันคับแคบของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า เราไม่อาจแยกแยะวิชาเศรษฐศาสตร์ออกจากจริยศาสตร์ได้เลย เพราะการโก่งราคาสินค้าและบริการในยามที่เพื่อนมนุษย์กำลังได้รับความเดือนร้อนหรือประสบภัยพิบัติ เปรียบเสมือนเป็นการกดทับละทิ้งความเป็นมิตรทั้งมวลและมนุษยสัมพันธ์อันดีเลิศระหว่างเพื่อนมนุษย์  โดยพิจารณาภายใต้รากฐานหลักสองประการ ได้แก่ ประการแรก คือ การพิจารณาเรื่องการบรรลุเป้าหมายส่วนตน เกี่ยวกับแรงจูงใจของมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับคำถามทางจริยธรรมกว้าง ๆ ที่ว่า ‘พ่อค้าแม่ค้าควรเลือกขึ้นราคาสินค้าและบริการในยามที่เพื่อนมนุษย์กำลังเดือนร้อนจากภัยพิบัติหรือไม่?’

ประการที่สอง คือ การพิจารณาเรื่องการบรรลุเป้าประสงค์ทางสังคมหรือการบรรลุสำหรับคนทั้งชาติย่อมสูงส่งหรือประเสริฐยิ่งกว่า ถึงแม้ว่าการบรรลุเป้าหมายสำหรับคนหนึ่งคนจะถือเป็นสิ่งที่คุ้มค่า (Ross, 1980) สอดคล้องดังข้อเสนอของ Sen (1987) ในเรื่อง ‘มุมมองการบรรลุเป้าสังคมที่เกี่ยวกับจริยศาสตร์’ (Ethics-Related View of Achievement)

จากรากฐานสองประการดังกล่าว การบรรลุประสิทธิภาพหรือการประเมิน ‘ผลกำไรสูงสุด’ ตามอำเภอใจภายใต้สถานการณ์น้ำท่วม พ่อค้าแม่ค้าควรจะต้องมอง ‘สิ่งดีงาม’ จากมุมที่กว้างขึ้น ภายใต้การสำนึกทางศีลธรรมหรือคำนึงถึงจริยศาสตร์มากกว่านี้ ดังคำกล่าวของ Letiche ที่ว่า “เศรษฐศาสตร์วันนี้สามารถสร้างประโยชน์ได้ยิ่งกว่าด้วยการให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นและเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นต่อข้อพิจารณาทางจริยธรรมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของมนุษย์” ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการพัฒนา ‘ทฤษฎีดุลยภาพทั่วไป’ เพราะเศรษฐศาสตร์ที่มีบ่อเกิดเชิงจริยศาสตร์จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติของการพึ่งพาอาศัยทางสังคม และชี้ให้เห็นปัญหาในภาคปฏิบัติ 

ฉะนั้น ภายใต้ความแร้นแค้นของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ถอยห่างออกจากจริยศาสตร์ เฉกเช่นดังกรณีราคาสินค้าและบริการที่พุ่งทะยานสูงขึ้นจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้ที่กำลังเกิดขึ้น การทุบทำลายสมมุติฐานอันคับแคบของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักด้วยการใส่ข้อพิจารณาเชิงจริยศาสตร์ที่กว้างขึ้นลงไป พร้อมกับการตั้งคำถามต่อไปที่ว่า เราจะปลูกฝังนิสัยที่ดีได้อย่างไร? เราควรตัดสินใจเลือกหนทางที่เหมาะสมอย่างไร? ในการตอบสนองเป้าประสงค์เหล่านั้นนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะข้อพิจารณาเชิงจริยธรรมและไร้จริยธรรมจะส่งอิทธิพลต่อสังคมและพฤติกรรมที่แท้จริงของมนุษย์ในทางใดทางหนึ่ง 

โครงสร้างสมมุติฐานที่กว้างขึ้นนี้อาจนำไปสู่การถอยห่างจากพฤติกรรมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอย่างเป็นระบบ ทำให้เรามองได้ว่ามนุษย์มีเจตนาที่จะบรรลุผลประโยชน์ส่วนรวม นอกเหนือจากความอยู่ดีมีสุขส่วนบุคคล หรือประโยชน์ส่วนตน หากพฤติกรรมที่แท้จริงของมนุษย์ขยับไปในทิศทางนั้นแม้เพียงเล็กน้อย มันก็เพียงพอแล้วที่จะสั่นคลอนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักถึงราก (เซน, 2562)

 

อ้างอิง :

อมาตยา เซน.(2562). จริยเศรษฐศาสตร์ [On Ethics and Economics] (สฤณี อาชวานันทกุล, แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Salt. (ต้นฉบับพิมพ์ปีค.ศ. 1987).

Aristotle, The Nicomachean Ethics; English translation, Ross (1980).

Robbins, L. (1935). An Essay on the Nature and Significance of Economic Science, 2nd Edition. London: Macmillan.

Sen, A. (1987). On Ethics and Economics. Reprinted J. M. Letiche (eds). USA: Blackwell Publishing.

Smith, A. (1776). An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations. Reprinted R.H. Campbell and A.S. Skinner (eds). Oxford: Clarendon Press.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่