เมื่อ 1 ปีก่อน กองทัพพม่าส่งเครื่องบินรบมาโจมตีทางอากาศทิ้งระเบิดลงกลางค่ายผู้พลัดถิ่นใกล้กับชายแดนไทย เด็กหนุ่ม 4 คนที่รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในคืนนั้น ความกลัวในจิตใจท่ามกลางความมืด, ชีวิตที่ต้องนอนนอกหลุมหลบภัย, การโจมตีทางอากาศคืนนั้นเกือบผลักให้เด็กผู้ชายคนหนึ่งกลายเป็นมือสไนเปอร์ และความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในวันที่ทางการไทยไม่อนุญาตให้พวกเขาข้ามฝั่งมาหลบภัย
6 ธ.ค. 2567 หลังพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ทำการรัฐประหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ชีวิตประชาชนชาวพม่าหลายคนก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนวัยหนุ่มสาวของพม่าพยายามหนีออกนอกประเทศตัวเองด้วยเหตุผลที่เชื่อมโยงกับเรื่องทางการเมือง ทั้งความไม่สงบ ความรุนแรงที่ทหารกระทำต่อประชาชน หรือนโยบายเกณฑ์ทหารที่กวาดต้อนประชาชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพและการรัฐประหาร
แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีต้นทุนมากพอออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังประเทศอื่นได้ ค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศหรือ IDP Camp (Internally Displaced People - IDP) กลายเป็นที่อยู่ของผู้คนจำนวนมากที่ไม่สามารถอยู่บ้านเดิมของตัวเองได้ หลังการรัฐประหารเดินทางไปเคาะประตูหน้าบ้านของพวกเขา ใกล้กับชายแดนไทยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีค่ายผู้พลัดถิ่นที่มีชาวกะเรนนีอาศัยอยู่ ค่ายแห่งนี้มีคนอยู่ราว 3,000 กว่าคน และเคยถูกทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศ 1 ครั้ง
คูมอโส่ : หลังวันทิ้งระเบิด “ผมอยากสมัครเป็นทหารสไนเปอร์”
คูมอโส่เด็กชายกะเรนนีที่หน้ามีรอยยิ้มทุกครั้งที่เจอ เขาตัวไม่สูงมากนัก ถึงจะผอมแต่ก็ดูแข็งแรงไม่ต่างกับเพื่อนๆ ของเขาในค่ายผู้พลัดถิ่น มองออกว่าพวกเขาสามารถแบกไม้ยกข้าวสารทั้งกระสอบได้สบายมาก คูมอโส่เล่าให้ฟังว่าปีนี้เขาอายุ 17 ปีแล้ว กำลังเรียนอยู่ เกรด 9 เป็นครั้งที่สอง เพราะสถานการณ์สงครามภายในประเทศทำให้เขาต้องเรียนๆ หยุดๆ
กว่า 2 ปีแล้วที่คูมอโส่มาอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นแห่งนี้ เขามาที่นี่พร้อมกับพี่ชายอีกคน ก่อนที่แม่จะมาอยู่ด้วยกันที่นี่
“ส่วนใหญ่ผมทำอาหารทุกวัน ส่วนงานบ้านเราจะช่วยกันทำ เช่น สร้างบ้าน สร้างถังเก็บน้ำ หาบน้ำ พอแม่มาผมก็ทำอาหารน้อยลง เพราะลูกพี่ลูกน้องและน้องสาวของผมก็มาอยู่ด้วยกัน ตอนแรกผมไม่อยากให้แม่มาที่นี่เพราะทางที่เดินมามันลำบากมาก” คูมอโส่
“เรามาที่นี่เพราะแม่ต้องการให้เราได้เรียนต่อ ผมไม่ได้มีแผนการอะไรกับชีวิต แค่อยากใช้ชีวิตตามปกติ และแทบไม่รู้รายละเอียดอะไรเลยเกี่ยวกับรัฐประหารด้วยซ้ำในช่วงแรก ตอนที่โควิด-19 ระบาดทุกอย่างก็ถูกระงับไปหมด พอเกิดรัฐประหารผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ เพราะทุกอย่างหยุดไปแล้ว” คูมอโส่ กล่าว
ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และการรัฐประหารในพม่า เขาเรียนหนังสือไปตามปกติเหมือนคนอื่น หลังจากนั้นแม้ว่าโรงเรียนบางที่ยังคงเปิดสอนอยู่ แต่โรงเรียนที่เขาเรียนอยู่นั้นไม่กลับมาเปิดอีกเลย แต่ได้ข่าวพวกเขาเพิ่งเปิดสอนอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้
“ผมก็แค่เป็นนักเรียนคนหนึ่งก่อนที่จะมีรัฐประหาร” คูมอโส่ กล่าว
หลังรัฐประหารคูมอโส่เคยเข้าร่วมประท้วงต่อต้านกองทัพพม่าด้วยการเดินขบวนรอบเมือง รวมถึงการประท้วงตอนกลางคืนและขี่รถมอเตอร์ไซค์ประท้วง เพราะเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่เอาชีวิตปกติของเขาและคนในรัฐกะเรนนีทุกคนไป
ค่ายผู้พลัดถิ่นในป่าแห่งนี้ใช่ว่าจะปลอดภัยขนาดที่จะมีชีวิตปกติได้ เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลทหารพม่าได้ส่งเครื่องบินรบมาโจมตีทางอากาศทิ้งระเบิดลงกลางค่ายในเวลาช่วงเที่ยงคืนซึ่งทุกคนกำลังนอนหลับ ไม่มีการแจ้งเตือน ไม่มีใครรู้ว่าก่อนว่าคืนนั้นกองทัพพม่าจะล็อคเป้าพวกเขา
“หลังจากการโจมตีทางอากาศ โรงเรียนปิดตัวลงชั่วคราว ตอนนั้นผมได้ยินจากเพื่อนว่า KNDF กำลังรับสมัครทหารสไนเปอร์ ผมคิดอยากเข้าร่วมกับพวกเขาเหมือนกัน ผมเคยลองยิงปืนกับลุงครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นมืออาชีพ ผมไม่กลัวทหารพม่าเลย เพราะผมไม่ได้สู้เพียงลำพัง ยังมีคนฝ่ายเราอยู่มากมาย” คูมอโส่ กล่าว
(กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง KNDF - Karenni Nationalities Defence Force)
“คืนที่มีการโจมตีทางอากาศ ผมนอนอยู่ที่บ้านเพื่อนในค่าย ตอนที่ระเบิดตกลงพื้น ดินกระเด็นจากพื้นที่ถูกระเบิดตกกระจายไปทั่วหัวของเรา ป้าของเพื่อนกลัวมากและไม่รู้จะทำอย่างไร ป้ากับบางคนวิ่งลงไปที่ลำธารฝั่งตะวันตกเพื่อหาที่หลบภัย แต่พวกเรา 4 คน มุ่งหน้าไปทางตะวันออกเพื่อเข้าหลุมหลบภัย”
“สุขภาพจิตของผมได้รับผลกระทบจากความกลัวที่อยู่ในใจคืนนั้น หลายเดือนหลังจากนั้นผมก็ยังนอนไม่ค่อยหลับ เพราะความกลัวนี้ยังคงอยู่ในใจ เวลาได้ยินเสียงรถมอเตอร์ไซค์ขับผ่านในตอนกลางคืน ผมมักระแวงว่าจะเป็นเสียงเครื่องบิน แต่ตอนนี้ผมรู้สึกดีขึ้นแล้ว” คูมอโส่ กล่าว
รัฐประหารเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่น่ากลัว คูมอโส่บอกว่าเขาได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตจากสถานการณ์ที่ทุกข์ระทมเช่นนี้อยู่ไม่น้อย การทิ้งบ้านมาอยู่ที่ค่ายผู้พลัดส่วนหนึ่งทำให้มีมุมมองและความรู้กว้างขึ้นกว่าตอนอยู่ที่บ้าน เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตบนความไม่ปกติ และเห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้น
“รัฐประหารครั้งนี้ทำให้ผมมาไกลทั้งในเรื่องประสบการณ์และความรู้ (หลักสูตรในค่ายผู้พลัดถิ่นดีกว่าหลักสูตรที่เคยเรียนในที่รัฐกะเรนนีซึ่งเป็นการศึกษาที่รัฐบาลพม่าควบคุม)ในอนาคตผมอยากเรียนให้มากที่สุด หลังจากนั้นเมื่อถึงช่วงฟื้นฟูในรัฐกะเรนนี ผมอยากจะมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูนี้ด้วย และยังอยากช่วยในการฟื้นฟูประเทศพม่าในช่วงนั้นด้วย”
“พูดตามตรง ผมไม่ได้เกลียดมิน ออง หล่าย ในความคิดของผมมีใครบางคนที่ทำให้เขากลายเป็นเผด็จการที่เลวร้าย กองทัพของพวกเขาสอนเขา ทำให้เขาเชื่อ ปลูกฝังความคิดว่าตัวเองเป็นชนชั้นสูงมีสิทธิพิเศษกว่าคนอื่น พ่อแม่ของเขาปลูกฝังความคิดเหล่านี้ในหัวพวกเขา” คูมอโส่ กล่าว
เมื่อถามว่าถ้าขอพรได้สักข้ออยากขออะไร คูมอโส่กล่าว่าแทนที่จะขอให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีหรือร่ำรวย เขาอยากขอพรให้ทหารที่สละชีวิตในสงครามเพื่อหวังอิสรภาพและประเทศที่สงบสุข อยากให้พรนี้เป็นจริงสำหรับพวกเขา
“ผมขอให้พม่ามีสันติสุขและกลายเป็นประเทศที่พัฒนา” คูมอโส่ กล่าว
คูมาวี : ชีวิตโดดเดี่ยวในค่าย ความฝันเป็นนักธุรกิจ
ตอนที่อยู่รัฐกะเรนนี การยิงต่อสู้เกิดขึ้นทุกวัน เนื่องจากการสู้รบที่รุนแรง ชีวิตของคูมาวีและครอบครัวตกอยู่ในอันตรายเพราะการสู้รบอยู่ใกล้ๆ กับพื้นที่อยู่อาศัย
คูมาวี วัย 17 ปี เล่าให้ฟังถึงความไม่สงบในกะเรนนีหลังรัฐประหาร ตอนนี้เขาเรียนอยู่เกรด 10 และเหตุผลที่ตัดสินใจเดินทางมาอยู่ในค่ายแห่งนี้ก็เพราะการศึกษาเช่นกัน ก่อนการรัฐประหารในช่วงโควิด-19 เขาเรียนอยู่เกรด 7 แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โรงเรียนต้องปิดลง หลังจากนั้น 1 ปี รัฐประหารก็เกิดขึ้น ตั้งแต่นั้นมาคูมาวีก็ไม่ได้เรียนหนังสืออีกเลย
“เมื่อเวลาผ่านไป ผมพบว่าชีวิตผมไม่มีโอกาสด้านการศึกษาเลย ผมจึงตัดสินใจมาที่ค่ายผู้พลัดถิ่น เพื่อให้ได้รับการศึกษาและความปลอดภัยอีกครั้ง ตอนที่มาที่นี่ใหม่ๆ ผมเจออุปสรรคมากมาย” คูมาวี กล่าว
ในบรรดาผู้ให้สัมภาษณ์ทั้ง 4 คน คูมาวีเป็นเพียงคนเดียวที่เข้ามาอยู่ในค่ายลำพัง เขามีชีวิตด้วยตัวเองในค่ายมากว่า 2 ปี มีเพื่อนๆ ที่อายุไล่เลี่ยกันอยู่รอบที่พักในค่ายนี้ บางคืนคูมอโส่และเพื่อนคนอื่นก็จะมานอนในที่พักเขาจนเป็นเรื่องปกติ
แม่ของคูมาวีเสียชีวิตไป 2 เดือนก่อนการรัฐประหารจากโรคเรื้อรัง ชีวิตของเขาจึงลำบากขึ้น ต้องดูแลน้องชายคนเล็ก ต้องทำงานกับพ่อเพื่อหารายได้ ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เมื่อลุงชวนเขามาอยู่ที่ค่ายผู้พลัดถิ่น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะตัดสินใจ
“ตอนนี้พ่อผมยังอยู่ที่หมู่บ้านเก่าในรัฐกะเรนนี ซึ่งไม่ปลอดภัย เพราะการสู้รบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”
“ที่ค่ายผู้พลัดถิ่นผมต้องใช้ชีวิตตามลำพัง พ่อส่งเงินมาให้เป็นบางครั้ง แต่การอยู่คนเดียวไม่ง่ายเลย ต้องต่อสู้กับความเหงา งานบ้านที่ต้องทำ หุงหาอาหารทั้งกลางวันและกลางคืน รวมถึงต้องซ่อมบ้านเมื่อมันพังคนเดียว” คูมาวี กล่าว
ที่นี่ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา ชีวิตประจำวันในค่ายสิ่งแรกที่เขาทำหลังจากตื่นนอนคือล้างหน้าและเช็ดทำความสะอาดร่างกายตัวเอง จากนั้นก็ทำอาหารเช้าแล้วก็กินข้าวก่อนไปโรงเรียน กลางวันก็เดินกลับมากินข้าวเที่ยงที่บ้าน นักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่ทำแบบนั้น หลังจากกลับจากโรงเรียนจะไปอาบน้ำในจุดที่ใช้อาบน้ำกันในค่าย (ต้องเดินไป-กลับประมาณ 5 กิโลเมตรจากที่พัก) และซักผ้าที่นั่น จากนั้นก็ทำอาหารเย็น แล้วก็อยู่กับเพื่อนจนมืด ส่วนใหญ่จะเล่นกีตาร์ร้องเพลงกัน เสร็จแล้วจึงทำการบ้านอ่านหนังสือ บางครั้งก็พักผ่อนแล้วก็เข้านอน
ในวันหยุดบางวันเขาตื่นสาย ทำอาหารเช้ากินข้าว ทำงานบ้าน แล้วก็ไปหาไม้ฟืน หาต้นไม้สำหรับทำสะพานหน้าบ้านและซ่อมบ้าน
เขาผ่านช่วงเวลายาวนานหลังรัฐประหาร และใช้ชีวิตตัวคนเดียวในค่ายมาได้โดยเป็นโรคซึมเศร้า
“บางครั้งผมก็รู้สึกผิดหวังเมื่ออยู่คนเดียว ไม่มีใครมีอิสระในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ และทุกคนต่างมีปัญหาทางการเงิน” คูมาวี กล่าว
คูมาวีเคยไปร่วมประท้วงต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพพม่าในช่วงเริ่มต้นซึ่งยังไม่มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่ต่อมาเมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง ทหารเริ่มยิงประชาชน เขาก็ไม่ได้ไปร่วมอีก เพราะเขารู้ว่าทหารพม่าสามารถกระทำอันตรายกับประชาชนได้ทุกเมื่อ เขามองว่ากองทัพพม่าไม่ได้ทำสิ่งดีเลยในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ
“ผมได้ตระหนักว่าเผด็จการไม่ใช่คนดี ตอนแรกผมคิดว่าการรัฐประหารจะอยู่ได้ไม่นาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็เริ่มเข้าใจว่ามันจะอยู่ไปอีกนาน พวกเขาฆ่าคนมาตั้งแต่กรณีปี 1988 ผมรู้ว่าพวกเขามีความโลภและต้องการถืออำนาจตลอดไป ตั้งแต่นั้นมาผมจึงตัดสินใจที่จะต่อต้านผ่านการศึกษาและมาที่นี่เพื่อเรียนหนังสือ การจับปืนสู้กับทหารพม่าไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผม” คุมาวี กล่าว
เมื่อปีที่แล้วตอนทหารพม่ามาโจมตีทางอากาศ เขากำลังนอนอยู่ในบ้านที่ค่าย ตอนที่ระเบิดตกลงบนพื้นจึงตื่นขึ้น เขาและคนอื่นๆ อีกสามคนไปที่หลุมหลบภัย
“ตอนนั้นผมไม่ได้กลัว แต่รู้สึกตกใจมากกว่า หลังจากนั้นไม่นานเครื่องบินก็บินวนกลับมาอีกฝั่งหนึ่งของค่าย พวกเราต้องอยู่ในหลุมหลบภัยทั้งคืนจนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้น การโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นระหว่างเวลาเที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง เช้าวันถัดมาทุกคนในค่ายเดินเท้าย้ายไปยังค่ายผู้ลี้ภัยกะเรนนีแห่งที่ 1 รวมถึงพวกเราด้วย พวกเราไปกางเต็นท์ชั่วคราวข้างนอกค่ายใกล้กับโซน 9 ของค่ายผู้ลี้ภัย” คุมาวี กล่าว
“ในอนาคตผมจะทำงานให้หนัก เพื่อเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หากสามารถทำได้ ผมจะช่วยเหลือค่ายผู้พลัดถิ่นและมอบสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ได้มากที่สุด”
“หากขอพรได้ หากเป็นไปได้ ผมอยากให้ทหารที่เสียชีวิตในสนามรบสามารถกลับไปหาครอบครัวของพวกเขาได้อีกครั้ง ผมอยากให้พวกเขามีชีวิต เพราะครอบครัวยังคงรอคอยพวกเขาอยู่” คูมาวี กล่าว
คูรีดู : “ถ้าต้องมีใครตายแทนคนในครอบครัวคืนนั้น ขอให้เป็นผม”
คูรีดูตัวสูงกว่าเพื่อนคนอื่นและดูนิ่งกว่าทุกคน เขาอายุ 18 ปี และเรียนอยู่เกรด 9 เป็นครั้งที่สอง ด้วยเหตุผลด้านสถานการณ์การเมืองเหมือนกับเด็กอีกหลายคน เขาหยุดเรียนไปพักหนึ่งและไปทำงาน ครอบครัวของคูรีดูไม่มีทางเลือกมาก พวกเขาต้องหนีการตามล่าตัวของทหารพม่าไปยังเมืองอื่นก่อนจะมาจบที่ค่ายผู้พลัดถิ่นแห่งนี้
“เหตุผลที่ผมต้องหนีมาอยู่ในค่ายนี้ เพราะครอบครัวของเราไม่มีทางเลือก มีเพียงบ้านของเราเท่านั้นที่ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ต่อไปในหมู่บ้าน การใช้ชีวิตอยู่ที่หมู่บ้านไม่ปลอดภัยกับครอบครัวเรา เราหนีมายังค่ายผู้พลัดถิ่นแบบนี้โดยที่ไม่มีโอกาสกลับไปยังบ้านแม้แต่ครั้งเดียว เพราะในตอนที่ทหารฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า (SAC) มาค้นหาบ้านของเราในหมู่บ้าน โชคดีที่ตอนนั้นพวกเราอยู่ที่อื่น พอได้ยินข่าวพวกเรารีบหนีออกมาโดยไม่กลับบ้านอีกเลย”
“เหตุที่ทหาร SAC มาค้นบ้านผมก็เพราะในตอนนั้นลุงของผมเป็นผู้นำฝึกในกองทัพปฏิวัติ และทหาร SAC ของพม่ามาตามค้นหาตัวเขา” คูรีดู กล่าว
เขาอยู่ในค่ายมามากกว่า 1 ปีแล้ว จริงๆ คูรีดูเป็นลูกครึ่งกะเรนนี - ฉาน สามารถพูดได้ทั้งภาษากะเรนนีและไทใหญ่ เขามีน้องสาวที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เธอไม่เหมือนเด็กคนอื่นๆ
“ก่อนการรัฐประหารเราสามารถพูดได้ว่าเรามีชีวิตที่ปกติ แม้จะไม่ได้สะดวกสบายเหมือนคนอื่นๆ เราไม่เคยคาดคิดว่าชีวิตจะต้องมาอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นแบบนี้” คูรีดู กล่าว
คูรีดูเล่าว่า ตัวเองไม่มีการศึกษา แค่อยู่ไปวันๆ โดยไม่มีทิศทางหรือความหวังใดๆ หลังการรัฐประหาร เขาเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านทหารพม่าในการประท้วงด้วยมอเตอร์ไซค์และนัดหยุดงานประท้วง "22222"
“ผมเคยคิดจะเข้าร่วมกองทัพปฏิวัติในตอนที่รู้สึกหดหู่และไม่มีความหวังกับอนาคตของตัวเอง ตอนนี้ผมตัดสินใจจะไปให้สุดทางกับการศึกษาของตัวเองเท่าที่จะทำได้ หลังจากนั้นผมจะกลับมารับใช้รัฐกะเรนนีบ้านของผม โดยเฉพาะในส่วนของการศึกษา ถ้ามีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ ผมก็อยากจะคว้าโอกาสนั้นไว้เหมือนทุกคน” คูรีดู กล่าว
คืนวันที่กองทัพพม่าใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศเป็นเหมือนฝันร้ายในชีวิตของคูรีดู หลุมหลบภัยในค่ายผู้พลัดถิ่นไม่ได้มีใครมาทำให้ แต่ละบ้านต้องขุดดินสร้างหลุมหลบภัยกันเอง
“ตอนที่มีการโจมตีทางอากาศ บ้านผมมีหลุมหลบภัย แต่มันเล็กเกินไปสำหรับคน 6 คนในครอบครัว ทุกอย่างลำบากไปหมดในคืนนั้นน้องสาวของผมร้องไห้ไม่หยุด เพราะเขาไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน คืนนั้นเราตกลงกันให้ผู้หญิงเข้าไปอยู่ในหลุมหลบภัย ส่วนผมกับพ่อหมอบอยู่ข้างนอกใกล้ๆ กัน ผมกลัวมาก ขณะที่ผมลุกจะกลับไปเอาของบางอย่างระเบิดก็ตกลงมาใกล้กับโบสถ์ ผมนอนลงกับพื้นทันทีและพื้นก็สั่นสะเทือนไปหมด ผมคิดว่าผมอาจจะตายได้ ถ้าจะต้องมีใครตายแทนคนในครอบครัวคืนนั้น ก็ขอให้เป็นผม” คูรีดู กล่าว
ถ้าขอพรได้สักข้อ ผมหวังว่าประเทศของผมจะมามีสันติภาพและพัฒนาเหมือนกับประเทศอื่นๆ
คูเนเร่ล์ : “ผมไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ ที่ทางการไทยไม่อนุญาตให้เราเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัย”
คูเนเร่ล์อายุน้อยที่สุดในบรรดาคนที่เราได้คุยด้วย เขาเพียงอายุ 14 ปี เรียนอยู่เกรด 10 คูเนเร่ล์มาอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นแห่งนี้ เพราะสถานการณ์ในหมู่บ้านของเขาไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไปและไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เขาเลยตัดสินใจมาที่ค่ายนี้
“ก่อนเกิดการรัฐประหาร ผมมีชีวิตที่สวยงามกว่านี้ ทำงานในฟาร์มและใช้ชีวิตอย่างสงบ แต่หลังรัฐประหารผมต้องหนีเหมือนกันคนอื่นๆ เผชิญกับความยากลำบากมากมาย ตอนที่เดินทางมาที่นี่ สิ่งที่ผมพกติดตัวมาด้วยมีเพียงกระเป๋าเป้กับเสื้อผ้าสองสามชุด อาหารสำหรับการเดินทางในระยะเวลา 4 วัน และเงินอีกนิดหน่อย” คูเนเร่ล์ กล่าว
หลังรัฐประหาร คูเนเร่ล์ไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก แต่สักระยะหนึ่งเขาก็เริ่มเข้าใจมันมากขึ้นจากการเห็นผู้คนออกไปประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร พวกเขารู้ว่าจะจัดการกับการรัฐประหารของกองทัพอย่างไร รัฐประหารที่ทิ้งร่องรอยเลวร้ายไว้ในอดีต และประชาชนกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง
“ผมไม่คิดจะเข้าร่วมกับกองทัพปฏิวัติ เพราะในขณะที่รัฐประหารเกิดขึ้น ผมไม่เข้าใจสถานการณ์ทางการเมือง สิ่งที่ผมเห็นในรัฐประหารของกองทัพพม่าคือพวกเขาเป็นคนส่วนน้อยที่รู้แค่จะถืออำนาจที่พวกเขาไม่คู่ควรและพวกเขากดขี่ประชาชน” คูเนเร่ล์ กล่าว
ตอนที่เกิดการโจมตีทางอากาศเมื่อปีที่แล้ว คูเนเร่ล์อยู่ในเขต 4 ของค่ายแห่งนี้ ตอนที่เครื่องบินทิ้งระเบิดลูกแรก เขายังไม่อยู่ในหลุมหลบภัยโชคดีที่ระเบิดไม่ตกใส่ พอเข้าไปในหลุมหลบภัยได้ การโจมตีทางอากาศครั้งที่สองก็เกิดขึ้น เขารู้สึกหวาดกลัวเช่นเดียวกับทุกคน
“พวกเราหลบหนีไปยังชายแดนไทย ขอตั้งค่ายพักพิงชั่วคราว ตอนนั้นทางการไทยไม่อนุญาตให้พวกเราเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยฝั่งไทย ผมไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ เพราะมันไม่ใช่ดินแดนของเรา และเราไม่มีอำนาจ หลังจากการโจมตีทางอากาศ เราเดินไปประมาณ 3 ชั่วโมงก็ถึงค่ายผู้ลี้ภัยตรงแนวชายแดนไทย” คูเนเร่ล์ กล่าว
แผนการในชีวิตของคูเนเร่ล์คือเรียนให้ได้ไกลที่สุด และกลับมารับใช้คะรนนีบ้านเมืองของเขา ถ้าสามารถขอพรได้ คูเนเร่ล์อยากจะอาศัยอยู่ในประเทศที่ดี
หมายเหตุ :
- ชื่อผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนเป็นชื่อสมมติ
- ไม่สามารถเปิดเผยชื่อจริงของบุคคลและชื่อค่ายผู้พลัดถิ่นได้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
- ชื่อเรียกผู้ชายกะเรนนีมักขึ้นต้นด้วย ‘คู’
ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)