Skip to main content
sharethis

112WATCH คุยกับ "เคท ครั้งพิบูลย์" ผู้ขับเคลื่อนสิทธิ LGBTQ+ ถึงขบวนการเคลื่อนไหวในประเด็นความหลากหลายทางเพศที่เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงการชุมนุมของเยาวชนในปี 2563 และการตกเป็นเหยื่อจากการไล่ล่าทางออนไลน์จากคำกล่าวหาในประเด็นสถาบันกษัตริย์ที่สะท้อนปัญหาของกฎหมายมาตรา 112 ที่ถูกนำมาใช้โจมตีทางการเมือง

คุณได้เป็นผู้ขับเคลื่อนในประเด็นสิทธิของ LGBTQ+ ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ช่วยอธิบายเรื่องการเคลื่อนไหวของคุณได้หรือไม่ มีวัตถุประสงค์ในการเคลื่อนไหวอย่างไร และทิศทางในการเคลื่อนไหวอย่างไรในอนาคต

ในปีพ.ศ.2553 เราได้ร่วมสร้างเครือข่ายของกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชน แม้ว่าในไทยจะมีองค์กรด้าน LGBTQ+ อยู่หลายกลุ่ม ทว่า พวกเขากลับเน้นเคลื่อนไหวด้านระบบสาธารณสุข (สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ส่วนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอย่างความไม่ยอมรับและการกีดกันกลุ่มคนข้ามเพศยังเป็นช่องว่างที่ยังไม่มีคนเคลื่อนไหว ดังนั้น พวกเราจึงได้เริ่มสร้างสื่อให้ความรู้ เช่น คู่มือสำหรับครอบครัวที่มีเด็กข้ามเพศและข้อมูลสำหรับการเกณฑ์ทหารของคนข้ามเพศ เรายังได้แสดงให้สังคมเห็นถึงแง่มุมอันหลากหลายของชีวิตของคนข้ามเพศและอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมไทย

ตลอดงานวิจัยที่เราทำเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตของบุคคลข้ามเพศในสังคมไทย เราได้ทราบว่าพวกเขาต้องการได้รับการจ้างงาน ,ความยอมรับทางเพศ และการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพและบริการทางสังคมในประเด็นเฉพาะของพวกเขาที่มีความอ่อนไหว การผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเป็นเรื่องที่สำคัญ เราได้ขยายเครือข่ายของเราเพื่อร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิกและทั่วโลกเพื่อส่งเสริมด้านการตระหนักรู้และความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เราถูกปฏิเสธการเป็นอาจารย์จนเราต้องไปฟ้องศาลปกครองเพื่อต่อสู้ต่อกับการกีดกันหน้าที่การงานจากข้ออ้างด้านเพศสภาพ มันสะท้อนว่าความไม่ยอมรับและการกีดกันบุคคลข้ามเพศยังมีอยู่ในสังคมไทย จากประสบการณ์ในการเป็นนักกิจกรรมภาคประชาสังคมได้ช่วยให้เราสามารถนำประสบการณ์นี้ไปใช้กับงานด้านวิชาการในการสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศให้กับนักศึกษา และเพิ่มความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความรู้ที่ใช้ในการขับเคลื่อนสังคม

เป้าหมายของเราคือการทำให้เกิดความยอมรับต่อ LGBTQ+ ทั้งในระดับสังคมและในทางกฎหมาย และเราเชื่อว่าประเทศไทยต้องจริงจังกับเรื่องนี้

ในการชุมนุมปี 2563 การเคลื่อนไหวเรื่อง LGBTQ+ ก็ถูกรวมมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว เราเห็นกลุ่มเพื่อนชาว LGBTQ+ เดินแบบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คุณช่วยอธิบายถึงการเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมของ LGBTQ+ เชื่อมโยงกับภาพรวมการชุมนุมปีอย่างไร?

“ความภาคภูมิใจคือการชุมนุม” จากประสบการณ์ที่เราได้ร่วมชุมนุมตลอดช่วงนั้น เราเห็นว่าประเด็นหลักสำหรับคนรุ่นใหม่คือการเรียกร้องประชาธิปไตยไปพร้อมกับการขยายประเด็นถกเถียงทางการเมืองอื่น ๆ เช่น ปัญหาเรื่องสิทธิทางเพศ ประเด็นที่พูดคุยนั้นมีตั้งแต่เรื่องสมรสเท่าเทียม, การยอมรับทางเพศ, สิทธิผ้าอนามัยฟรี, การต่อต้านความรุนแรงทางเพศ, ความยินยอมทางเพศ (sexual consent), และที่สำคัญคือ “งานบริการทางเพศคืองานปกติ” ประเด็นเคลื่อนไหวเหล่านี้มันสะท้อนว่า เราต้องการสังคมที่เข้าใจและเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

การชุมนุมที่เกิดขึ้นได้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนสามารถรวมตัวกันและนำประเด็นที่ถูกกีดกันทางสังคมมาเป็นประเด็นหลักควบคู่ประกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เราดีใจมากที่ได้เห็นชุมชน LGBTQ+ มีบทบาทนำในการชุมนุมช่วงนั้น หลายคนได้ใช้ความสามารถพิเศษของตัวเองในการเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม เช่น การรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขกฎหมาย และรวบรวมคนมากมายเพื่อเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการท้าทายรัฐบาลและเผยให้สังคมไทยเห็นถึงความไม่เท่าเทียมที่กำลังเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ได้เห็นผู้คนจำนวนมากถูกดำเนินคดี หรือถูกจับกุมหลังจากร่วมกิจกรรมเหล่านี้ เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ท้อแท้ใจเป็นอย่างมาก จากประสบการณ์การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ LGBTQ+ เรามองว่าปี 2563 คือปีที่ทำให้ประเด็นที่เคยถูกซ่อนเอาไว้ผุดขึ้นมาในสังคม สังคมโลกและสังคมไทยค่อย ๆ ตระหนักถึงเรื่องอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมที่กำลังกดทับพลเมืองของพวกเขา เราจำได้อย่างชัดเจนว่า ในกระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องความอ่อนไหวทางเพศ องค์กรในกระบวนการมีปัญหาตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ไปจนถึงผู้พิพากษาและราชทัณฑ์ นักศึกษาของเราหลายคนถูกจับกุมในช่วงเวลานี้และเราพยายามทุกอย่างเพื่อให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัว

คุณช่วยอธิบายถึงสถานการณ์เรื่องสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยได้หรือไม่

ผู้คนจำนวนมากอาจจะเห็นว่า หลังจากการขับเคลื่อนเรื่องสมรสเท่าเทียมกว่า 20 ปี จนทำให้ประเด็นนี้มีความคืบหน้าเป็นอย่างมากถือเป็นความสำเร็จ ความคืบหน้านี้สะท้อนถึงความสำเร็จในการทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับในทางกฎหมาย ประเด็นนี้มักจะไปเชื่อมโยงกับเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ในสายตาชุมชนระหว่างประเทศมองว่าประเทศได้เป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ จนสามารถดึงดูดการท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก ทว่า ที่จริงแล้วแม้กระทั่งเรื่องการยอมรับทางกฎหมายก็ยังมีปัญหาอยู่มาก

ประเด็นเรื่องสมรสเท่าเทียมสำเร็จจากความร่วมมือกันของภาคประชาสังคมหลายฝ่ายและใช้หลากหลายกลยุทธ์ในการต่อสู้เพื่อสิ่งนี้ เช่น การเรียกร้องทางสังคม และการฟ้องร้องทางกฎหมาย จนกระทั่งท้ายที่สุด ในปี 2567 รัฐบาลได้ผ่านกฎหมายฉบับนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลก่อนจะผ่านกฎหมายคู่ชีวิตมาก่อนแต่กฎหมายนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมในการสมรสระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อยู่ดี ต่อไปเราก็ยังสนใจว่า สิทธิในการแต่งงานจะถูกนำไปปฏิบัติจริงอย่างไร การบังคับใช้จะต่างกันระหว่างคนเมืองกับคนชนบทหรือไม่ และชนชั้นทางสังคมจะมีผลหรือไม่

เราต้องการจัดการปัญหาของการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน ที่กลุ่มทุนทั้งหลายใช้สัญลักษณ์สีรุ้งมาทำการตลาด ทว่า ในที่ทำงานของบริษัทเหล่านี้ยังมีการกีดกันทางเพศอยู่ ดังนั้น การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องออกแบบให้สิทธิประโยชน์และบริการทางสังคมต่าง ๆ ทั้งที่มาจากภาครัฐและภาคเอกชนยอมรับการมีอยู่ของชุมชน LGBTQ+

คุณเองก็เป็นเหยื่อจากคำกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี คุณรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไร?

การที่เราเป็นเหยื่อจากการถูกกล่าวหาจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม-ชาตินิยมทำให้เราถูกตกเป็นเป้าโจมตีของคนกลุ่มนี้ในพื้นที่ทางออนไลน์ เราถูกคุกคามทางพื้นที่ออนไลน์อย่างหนักโดยเฉพาะการล้อเลียนเรื่องเพศสภาพ, ตัดต่อภาพเพื่อโจมตี และการส่งข้อความที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและมีความเกลียดกลัวผู้รักเพศเดียวกัน (Transphobia) อัตลักษณ์ทางเพศที่เราเป็นผู้ข้ามเพศก็ถูกนำไปใช้เพื่อปลุกความเกลียดชัง

ทว่า เราเองก็ได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากทนายและนักวิชาการจนทำให้สามารถจัดการสถานการณ์เหล่านี้ได้

จากประสบการณ์ที่เราทำกิจกรรมทางสังคมประกอบกับอัตลักษณ์ทางเพศของเรายิ่งทำให้เราถูกสอดส่องเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราเลยยังคงแข็งแกร่งและปรับตัวกับสภาวะที่เราต้องเผชิญได้ เรายังคงทำงานด้านการรณรงค์เหมือนเดิม และยังคงสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อทำให้ประเด็นเรื่องการใช้มาตรา 112 ได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการรังแกนักกิจกรรมด้วยกฎหมายมาตรานี้ ประสบการณ์การถูกรังแกของเรายิ่งทำให้เราเชื่อว่า ระบบกฎหมายไทยควรได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิที่แสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับสังคมที่มีความเป็นธรรมและคำนึงถูกทุกคน

คุณฝันถึงสังคมไทยในอนาคตอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นของพื้นที่สำหรับชุมชนชาว LGBTQ+

เรายังหวังว่าอนาคตของสังคมไทยจะเป็นพื้นที่ที่ LGBTQ+ แต่ละคนได้รับการยอมรับทางกฎหมายและในทางสังคมด้วย การที่จะทำให้ภาพนี้เกิดขึ้นได้ต้องมีหลายอย่าง เช่น การคุ้มกันทางกฎหมาย ซึ่งเหนือไปกว่าแค่กฎในเชิงสัญลักษณ์ แต่ต้องเป็นสิทธิที่จับต้องได้อย่างสมรสเท่าเทียม, กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ครอบคลุมหลากหลายประเด็น และการสิทธิทางสาธารณสุขเพื่อการสนับสนุนอัตลักษณ์ทางเพศ เช่น สิทธิในการแปลงเพศ การปรึกษาทางจิตใจกับแพทย์ที่เกี่ยวข้อง (Gender affirming) ในอนาคต LGBTQ+ จะไม่ถูกแบ่งแยกอีกต่อไป แต่ความหลากหลายของพวกเขาจะได้รับการเฉลิมฉลอง

เราเสนอว่า สถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยอย่างโรงเรียน, สถานที่ทำงาน และสถาบันที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สาธารณะควรจะกระตือรือร้นในการยอมรับความหลากหลายทางเพศและรสนิยมทางเพศ เราหวังว่าสังคมจะยอมรับคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนแต่ละคนเพื่อสร้างวัฒนธรรมที่เท่าเทียมและเปิดกว้างยอมรับความหลากหลาย อนาคตเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนอย่างรัฐบาล, การศึกษา, ประชาสังคม, และภาคธุรกิจ ร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมและเกื้อกูลกัน

เคท ครั้งพิบูลย์ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเทศไทย ขณะนี้เป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่คณะสังคมศึกษา มหาวิทยาลัย Ostrava สาธารณรัฐเช็ก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่