ศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์และตอบคำถามในประเด็นกลุ่มทุนสีเทาที่แปลงพื้นที่ห่างไกลตามแนวชายแดนไทย-พม่าให้กลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมผิดกฎหมายจากกลุ่มทุนสีเทา นอกจากนี้ยังเสนอข้อควรพิจารณาหลังมีมติคณะรัฐมนตรี 9 เมษายน 2567 รับทราบรายงานผลการศึกษาเรื่องเปิดสถานบันเทิงครบวงจร โดยเฉพาะกลไกควบคุมและกำกับดูแลหากรัฐบาลจะส่งเสริมธุรกิจกาสิโนถูกกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ทำให้การเปิดสถานบันเทิงครบวงจรกลายเป็นศูนย์รวมอาชญากรรมข้ามชาติและแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ทุนจีนสีเทานอกอธิปไตยแต่ส่งผลกระทบชายแดน
ปิ่นแก้วอธิบายถึงกรณีกลุ่มทุนผิดกฎหมายในประเทศจีนที่ถูกทางการจีนแผ่นดินใหญ่บีบให้ต้องหาช่องทางดำเนินกิจการนอกประเทศ "ประวัติศาสตร์ในการควบคุมเศรษฐกิจนอกระบบของจีนทำให้ชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญปัญหานี้"
ปิ่นแก้วระบุด้วยว่า การขาดการควบคุมในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาใช้ประโยชน์ โดยการแปลงอำนาจอธิปไตยในพื้นที่ให้กลายเป็นทุน กิจกรรมผิดกฎหมายหลากหลายประเภทจึงเกิดขึ้น เช่น กาสิโนเถื่อน สแกมเมอร์ และคอลเซ็นเตอร์ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่มีอำนาจในการจัดการและรับผลประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ชาวบ้านในพื้นที่รอบๆ เมียวดีกลับได้รับผลกระทบ ถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง หรือได้รับค่าชดเชยเพียงเล็กน้อย
ศ.ดร. ปิ่นแก้ว ยังได้กล่าวถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งฝั่งไทยและพม่า ที่บางส่วนอาจในการสนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมายเหล่านี้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลางของพม่าก็ไม่สามารถควบคุมพื้นที่บริเวณชายแดนได้ โดยเฉพาะในพื้นที่โดยรอบเมืองเมียวดี "ชายแดนไทย-พม่าเป็นแหล่งสมบูรณ์แบบสำหรับการลงทุนผิดกฎหมาย เพราะรัฐพม่าไม่มีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จในพื้นที่นี้" เธอชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลพม่ายังให้สัญญาเช่าพื้นที่กับกลุ่มทุนเหล่านี้ ทำให้พวกเขาสามารถดำเนินกิจกรรมได้ต่อเนื่อง
ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะฝั่งพม่าเท่านั้น ฝั่งไทยก็ไม่พ้นจากผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากกิจกรรมผิดกฎหมายเหล่านี้เชื่อมโยงกับระบบสาธารณูปโภคที่สนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสแกมเมอร์และคอลเซ็นเตอร์เติบโต ศ.ดร. ปิ่นแก้ว กล่าวว่า “เรื่องนี้รัฐบาลไทยทราบดี ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า และ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ตกิจการพวกนี้ดำเนินการไม่ได้เพราะมันออนไลน์หมด” นอกจากนี้ เธอยังกล่าวถึงความท้าทายที่รัฐบาลไทยต้องเผชิญในการควบคุมกิจกรรมเหล่านี้ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเร็วเกินกว่าที่กฎหมายจะควบคุมได้ทัน
ธุรกิจในท้องถิ่น เช่น ค้าปลีก อาหารและน้ำดื่ม รวมถึงวัสดุก่อสร้าง ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของทุนผิดกฎหมายเหล่านี้อย่างชัดเจน ศ.ดร. ปิ่นแก้วได้เล่าว่า ขณะเธอพานักศึกษาไปสำรวจพื้นที่ชายแดน พบว่ามีการก่อสร้างตึกใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก และวัสดุก่อสร้างเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากฝั่งไทย "หากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหา จะต้องตัดเส้นทางลำเลียงสินค้าอุปโภคบริโภคเหล่านี้ด้วย" เธอกล่าว
การข้ามแดนในพื้นที่แม่สอดยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้เกิดการสนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากคนงานที่เข้ามาทำงานในกิจการเหล่านี้เดินทางจากไทยไปยังพม่าผ่านท่าข้ามธรรมชาติ ซึ่งอยู่นอกการควบคุมของรัฐ ธุรกิจท่าข้ามเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับผู้ควบคุมเส้นทาง
ศ.ดร. ปิ่นแก้ว เน้นว่า การเติบโตของกิจกรรมผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดนไม่ได้จำกัดแค่การทำประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนท้องถิ่นและกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง โดยเฉพาะการแพร่หลายของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติ "เศรษฐกิจของประเทศถูกสูบเข้าสู่วงจรนี้ชัดเจน" เธอกล่าว
และยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เธอเตือนว่า หากไม่มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจะยิ่งรุนแรง
สแกมเมอร์ย้ายฐาน ย้ายจริงหรือแค่อำพราง
ศ.ดร. ปิ่นแก้ว ยังสะท้อนถึงปัญหาของการดำเนินกิจการผิดกฎหมายตามแนวชายแดนไทย-พม่า โดยเฉพาะในกรณีเมืองใหม่ชเวก๊กโก่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของธุรกิจบ่อนกาสิโนเถื่อน คอลเซ็นเตอร์ และการสแกมมิงออนไลน์ แม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น การยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า การตัดไฟ การรื้อถอนเสาสัญญาณโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต รวมถึงการสกัดการจำหน่ายจานดาวเทียม แต่กิจกรรมผิดกฎหมายเหล่านี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป เธอระบุว่า "ในปัจจุบัน เรายังเห็นไฟสว่างอยู่ในชเวก๊กโก่ แม้ว่าจะมีการตัดไฟแล้วก็ตาม นั่นหมายความว่าเขาอาจจะยังใช้ไฟฟ้าจากฝั่งไทยอยู่ หรือไม่ก็ซื้อเครื่องปั่นไฟจากฝั่งไทย"
นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาผู้ศึกษาประเด็นข้ามพรมแดนผู้นี้ ยังชี้ให้เห็นว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากการขาดความพยายามของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในพื้นที่ชายแดน ที่ยังคงขายอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เอื้อให้กลุ่มทุนสีเทาสามารถดำเนินกิจการได้ การแก้ไขปัญหาจึงไม่ควรจำกัดเพียงแค่การขอความร่วมมือจากภาคเอกชน แต่ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและเข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมการลักลอบข้ามแดนและการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่อาจเป็นต้นเหตุของการเติบโตของธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้
“รัฐบาลมีความจำเป็นต้องคุยกับภาคเอกชนด้วยโดยเฉพาะภาคเอกชนในบริเวณชายแดน คือเข้าใจว่านี่คือผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเหล่านี้มันทำให้คนล่มจม มันทำให้คนเสียหาย ทำให้คนฆ่าตัวตาย ต้องมีมาตรการที่มากไปกว่าการขอความร่วมมือ”
หวังธนาคารใช้มาตรการเชิงรุก สกัด-ถ่วงเวลามิจฉาชีพ
ศ.ดร.ปิ่นแก้วยังกล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากระบบธนาคารและความรวดเร็วของการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟน (Mobile Banking) ซึ่งเอื้อต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมิจฉาชีพสแกมเมอร์รูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ตามมีมาตรการรับมือที่สามารถเรียนรู้ได้จากต่างประเทศ "อย่างในประเทศจีน ถ้ามีการโอนเงินเกินห้าร้อยหยวน จะต้องไปทำที่ธนาคาร เพื่อไม่ให้เกิดการทำธุรกรรมอย่างรวดเร็ว" ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยชะลอความเร็วของการโอนเงิน แม้จะทำให้ธนาคารมีกำไรน้อยลง แต่เป็นวิธีที่สามารถลดปัญหาการฉ้อโกงได้
สำหรับประเทศไทย ปิ่นแก้วตั้งข้อสงสัยว่านโยบายเชิงรับในการชะลอการทำธุรกรรมทางการเงินจะถูกนำมาใช้หรือไม่ เธอกล่าวว่า "เราได้ยินว่าจะมีการหน่วงเวลาในการทำธุรกรรม แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นการหน่วงเวลาแบบใด" อีกทั้งธนาคารในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต้องส่ง SMS เตือนในกรณีที่มีการโอนเงินที่ไม่ปกติหรือมีจำนวนมาก เพื่อเตือนผู้ใช้ แม้ว่ามาตรการนี้จะมีประโยชน์ แต่เธอมองว่ายังไม่เพียงพอ ธนาคารควรมีมาตรการรับผิดชอบที่มากกว่านี้ เช่น การคืนเงินให้กับผู้เสียหายในกรณีที่ไม่มีการเตือนล่วงหน้า
ขณะเดียวกันเรื่องนี้ยังสะท้อนความล้มเหลวของมาตรการในการรับมืออาชญากรรมออนไลน์ "การรับมือกับอาชญากรรมเหล่านี้ต้องคิดให้เป็นระบบและผลักความรับผิดชอบไปที่หน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างโดดเดี่ยว" เธอยังเล่าว่ามีกรณีของผู้สูงอายุที่ถูกหลอกลวงจนต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก จนต้องหันมาขายของออนไลน์ประทังชีพ เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาสแกมเมอร์ที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย
ศ.ดร.ปิ่นแก้วยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีนโยบายชัดเจนในการชดเชยให้กับผู้เสียหายจากการฉ้อโกงออนไลน์ รวมถึงการสร้างความรับผิดชอบให้กับธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าปัญหาของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะไม่ถูกละเลย
ข้อควรคำนึงก่อนเปิดเสรีบ่อนการพนัน
ศ.ดร. ปิ่นแก้ว ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรที่รวมถึงบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทย ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 9 เมษายน 2567 มีมติรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) และยังปรากฏในวิสัยทัศน์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในงานที่จัดโดยเนชั่น ทีวี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ต่อคำถามประเด็นดังกล่าว เธอเตือนว่า การเปิดกาสิโนในลักษณะนี้อาจทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากประเทศที่เคยเป็นเพียง "ทางผ่าน" ของอาชญากรรม กลายเป็นศูนย์กลางของอาชญากรรมโดยตรง "การที่เราจะเป็นแบบสิงคโปร์เป็นการฝันเฟื่อง" เธอกล่าว
ศ.ดร. ปิ่นแก้วได้เปรียบเทียบโมเดลการจัดการกาสิโนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้สองแบบ แบบแรกคือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ แต่แบบที่สองคือประเทศอย่างกัมพูชา ฟิลิปปินส์ พม่า และลาว ซึ่งสถานบันเทิงและเขตเศรษฐกิจพิเศษกลับกลายเป็นแหล่งของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เธอเชื่อว่าไทยมีแนวโน้มที่จะเดินตามแบบหลัง เพราะขาดความเข้มงวดในการควบคุมและกำกับดูแลธุรกิจประเภทนี้
“ตัวแบบของกาสิโนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 2 โมเดล โมเดลที่ 1 แบบสิงคโปร์ กล่าวคือเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นพันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ กับโมเดลที่ 2 เป็นแบบกัมพูชา ฟิลิปปินส์ ชายแดนพม่า หรือแม้กระทั่งที่ลาว เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็น Entertainment Complex ที่ในท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นศูนย์กลางของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ไทยจะไม่ไปทางสิงคโปร์”
เธอได้ยกตัวอย่างสิงคโปร์ว่า การที่สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกาสิโนเกิดจากการเปิดรับฟังเสียงประชาชนอย่างจริงจัง และการตั้งหน่วยงานเฉพาะที่เรียกว่า “National Council on Problem Gambling” มีหน้าที่ดูแลปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการติดการพนัน รวมถึงการควบคุมการฟอกเงินในบ่อนกาสิโน สิงคโปร์มีกฎหมายที่เคร่งครัดมากในเรื่องการป้องกันการฟอกเงิน โดยหากพบว่ามีเงินที่ไหลเข้าออกบ่อนอย่างผิดปกติ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสั่งการตรวจสอบทันที หากไม่ตรวจสอบก็จะถูกปรับเงินจำนวนมหาศาล ศ.ดร. ปิ่นแก้วกล่าวว่า "สิงคโปร์มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยยังไม่สามารถทำได้"
สำหรับประเทศไทย เธอกล่าวว่า กฎหมายการพนันยังคงล้าหลัง ใช้กฎหมายเดิมที่มีมานานกว่า 40-50 ปี ขณะที่การพนันในปัจจุบันขยายตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ เธอชี้ว่ากฎหมายกาสิโนใหม่ที่กำลังจะออกมาเป็นการคัดลอกกฎหมายเดิมที่หละหลวมมาก และเน้นไปที่การสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการพนัน นอกจากนี้ เธอยังวิจารณ์การตั้งตำแหน่งเลขาธิการในคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีอำนาจในการต่อหรือไม่ต่อใบอนุญาตตั้งกาสิโน การให้อำนาจกับบุคคลเพียงคนเดียวเช่นนี้อาจนำไปสู่การคอร์รัปชัน และจะทำให้ไทยเดินไปในทิศทางเดียวกับกัมพูชาหรือพม่า ที่บ่อนการพนันกลายเป็นแหล่งของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
ระวังเริ่มต้นสถานบันเทิงพ่วงกาสิโน ลงท้ายได้คอลเซ็นเตอร์
ศ.ดร.ปิ่นแก้วยังได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชายแดนไทย-พม่า ว่ากลุ่มสแกมเมอร์ไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นสแกมเมอร์ แต่เริ่มจากธุรกิจกาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจรเช่นเดียวกัน เม็ดเงินที่หมุนผ่านธุรกิจกาสิโนเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่มาจากคอลเซ็นเตอร์ผิดกฎหมายต่างกันมาก กลุ่มคนจีนเป็นผู้กำหนดทิศทางธุรกิจนี้ เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ทั้งในแง่ของนักลงทุนและลูกค้า
เธอกล่าวว่า เมื่อกลุ่มทุนจีนสีเทาถูกบีบจากรัฐบาลจีน พวกเขาจะย้ายฐานการดำเนินธุรกิจไปที่อื่น เช่น ชเวก๊กโก่ที่เพิ่งประกาศปิด แต่เคเคปาร์คก็ยังคงอยู่ เธอคาดการณ์ว่าทุนจีนอาจย้ายลงมาทางใต้ของไทย เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ หรือเกาะสองตรงข้าม จ.ระนอง ซึ่งมีกาสิโนและคอลเซ็นเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตามพื้นที่เหล่านี้
นักลงทุนจีนที่ย้ายเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่จะเข้ามาในรูปแบบของบริษัทใหม่ และมีแนวโน้มที่จะเข้ามาลงทุนในกาสิโนและสถานบันเทิงครบวงจรในไทย หากกฎหมายกาสิโนถูกผลักดันให้ผ่านในไทย ศ.ดร. ปิ่นแก้วกล่าวว่า "การเปิดในใจกลางเมืองท่องเที่ยวหรือเมืองใหญ่ จะเป็นการดึงเอาอาชญากรรมเข้ามาไว้ในศูนย์กลาง ซึ่งจะกลายเป็นหายนะใหญ่" เธอยังกล่าวเสริมว่า หากประเทศไทยต้องการแข่งกับสิงคโปร์ ก็ควรนำโมเดลการควบคุมกาสิโนของสิงคโปร์มาใช้
ท้ายที่สุด เธอเตือนว่า หากไม่มีการควบคุมที่เข้มงวด ประเทศไทยอาจเสี่ยงที่จะกลายเป็นแหล่งฟอกเงินขนาดใหญ่ เพราะบ่อนกาสิโนเป็นที่ที่กลุ่มทุนสีเทามักใช้เพื่อฟอกเงิน ศ.ดร. ปิ่นแก้วเน้นว่า การที่จะนำธุรกิจกาสิโนเข้ามาดำเนินการในไทยต้องมีกลไกการควบคุมที่ชัดเจนและเข้มงวดมากกว่าที่เป็นอยู่
ปิ่นแก้ว ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวคิดการเปิดบ่อนกาสิโนในประเทศไทย โดยเธอชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์ เธอได้ยกตัวอย่างว่าสิงคโปร์มีการคัดเลือกผู้ลงทุนอย่างเข้มงวด และทุนที่จะเข้ามาลงทุนในกาสิโนของสิงคโปร์ส่วนใหญ่มาจากบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ทุนจากลาสเวกัสและมาเลเซีย และยังมีขั้นตอนคัดเลือกผู้ลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบ และใช้กลไกควบคุมกิจการกาสิโนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"เมื่อเราเดินเข้าไปใน Marina Bay ของสิงคโปร์ เราจะพบว่ามีทั้งโรงแรม รีสอร์ต และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ โดยกาสิโนจะถูกซ่อนไว้ ไม่ให้มองเห็นชัดเจนว่าเป็นกาสิโน" ศ.ดร. ปิ่นแก้วอธิบาย เธอกล่าวเพิ่มเติมว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของกาสิโนในสิงคโปร์เป็นลูกค้าจากจีนและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สิงคโปร์ก็ยังสามารถควบคุมปัญหาการฟอกเงินและปัญหาทางสังคมได้ดี
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. ปิ่นแก้วตั้งคำถามว่า "หากไทยต้องการแข่งกับสิงคโปร์ เราจะเอาอะไรไปแข่ง?" โดยเธอชี้ว่าไทยอาจไม่สามารถควบคุมอุตสาหกรรมกาสิโนได้อย่างเข้มงวดเท่ากับสิงคโปร์ เนื่องจากระบบการคัดเลือกผู้ลงทุนและการกำกับดูแลในไทยยังคงมีความหละหลวม เธอยังแสดงความกังวลว่าการเปิดกาสิโนในไทยอาจทำให้สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) กลายเป็นแหล่งอาชญากรรมที่ซับซ้อน เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและพม่า
เธอยังเปรียบเทียบเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ไทยอาจไม่สามารถแข่งขันกับสิงคโปร์ในแง่ของการควบคุมและการบริหารกาสิโนได้ ไทยอาจจะแข่งกับปอยเปตในกัมพูชาหรือเมียวดีแทน ซึ่งทั้งสองแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท้ายที่สุด ศ.ดร.ปิ่นแก้ว ตอบคำถามถึงบทบาทของสื่อมวลชนท้องถิ่นในการเฝ้าติดตามและนำเสนอปัญหาการขยายตัวของอาชญากรรมข้ามชาติตามแนวชายแดนที่มีความซับซ้อนว่า สื่อมวลชนท้องถิ่นควรใช้ความรู้และข้อมูลที่พวกเขามีเพื่อเปิดเผยถึงปัญหาและความเชื่อมโยงของหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมายเหล่านี้ เธอชี้ให้เห็นว่า การละเลยต่อปัญหาเพียงเพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้นอาจทำให้ประเทศต้องเผชิญกับหายนะในระยะยาว
ปิ่นแก้วยังเสนอให้สื่อมวลชนเจาะลึกปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้น และใช้เวทีสาธารณะเพื่ออภิปรายหรือส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงความเห็นต่อประเด็นที่สำคัญเช่นนี้ “ที่ผ่านมามีดีเบตเรื่องนี้น้อยมากหรือแทบจะไม่มีดีเบตเลย สื่อควรเป็นตัวกลางในการเปิดเวที ถ้าหากต้องการเป็นโมเดลอย่างสิงคโปร์จริงๆ ควรเปิดเวทีประชาพิจารณาเรื่องนี้ เปิดเวทีให้นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน หากสื่อเป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดเวทีแบบนี้ได้จะดีมากๆ เลย ดิฉันจะขอบคุณมาก”
ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)